เค-ป็อปหนุนเน็ตฟลิกซ์ยิ่งโต
ซีรีส์ซอมบี้ในวัง นางพยาบาลที่มีพลังวิเศษและนักเขียนนิทานเด็กที่แอนตี้สังคม ช่วยหนุนให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สูงสุดของเน็ตฟลิกซ์สำหรับการเติบโตในตลาดต่างประเทศ อ้างอิงจากแหล่งข่าวในประเด็นนี้
โดยเน็ตฟลิกซ์ระบุว่า 46% ของรายได้ทั่วโลกในไตรมาส 3 มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรายได้เติบโตขึ้นถึง 66% จากปีก่อน โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากข้อมูลในจดหมายถึงนักลงทุนเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยแหล่งข่าวอ้างอิงข้อมูลที่เผยในสัปดาห์นี้ในโอกาสที่คาดว่าตัวแทนของเน็ตฟลิกซ์จะเข้าร่วมในการประชุมสภาประจำปี แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพูดคุยกันในประเด็นใดในการประชุม
บริษัทกระหายที่จะลงทุนขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ รวมถึงบทบาทของบริษัทในการทำให้วัฒนธรรมเคป็อปยิ่งเติบโตและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นนอกประเทศ
ธุรกิจของเน็ตฟลิกซ์ในเกาหลีใต้ยิ่งโดดเด่นในการเติบโตของไตรมาส 3 จนถึง 30 ก.ย. บริษัทเน็ตฟลิกซ์ที่เป็นบริการสตรีมมิงวีดีโอที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าบริการถึง 3.3 ล้านรายในภูมิภาค อ้างอิงจากแหล่งข่าว
โดยรวมแล้ว เน็ตฟลิกซ์มีจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าบริการกว่า 195 ล้านราย
แหล่งข่าวระบุว่า บริษัทช่วยขับเคลื่อนผลักดันวัฒนธรรมเคป็อปของเกาหลีใต้ให้ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก โดยตั้งแต่ปี 2558 เน็ตฟลิกซ์ได้ลงทุนสูงเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 21,861 ล้านบาทในการเป็นหุ้นส่วนทางการเงินและร่วมผลิต
ตั้งแต่ปี 2562 บริษัทได้ลงทุนกับบริษัทสตูดิโอยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ทั้ง CJ ENM/Studio Dragon และ JTBC เพื่อผลิตงานที่มีคุณภาพ
กว่า 70 ผลงานของผู้สร้างสรรค์ในเกาหลีใต้ได้ถูกเผยแพร่จากเน็ตฟลิกซ์ไปทั่วโลก และมีการใส่ซับไตเติ้ลมากถึง 31 ภาษา รวมถึงพากย์เสียงภาษาต่างประเทศกว่า 20 ภาษา
ในเดือนต.ค. เน็ตฟลิกซ์เพิ่งเปิดตัวสารคดี ‘Black Pink : Light Up the Sky’ ของวงไอดอลสาวแบล็คพิงค์ที่มีเพลงฮิตติดบิลบอร์ดชาร์ตสูงสุด โดยทางวงเพิ่งปล่อยมิวสิกวีดีโอเพลง ‘How You Like That’ ที่ทุบสถิติบนยูทูบมียอดวิวสูงสุดถึง 86.3 ล้านวิวใน 24 ชม.
ในเดือนพ.ค. เกาหลีใต้แก้ไขกฎหมายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่ถูกเรียกกันว่า ‘กฎหมายเน็ตฟลิกซ์’ ซึ่งกำหนดให้ผู้จัดทำคอนเทนต์ทั้งหมด รวมถึงบริษัทต่างชาติแชร์ภาระค่าใช้จ่ายโครงข่ายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ
มีการแก้ไขกฎหมาย หลังจากในเดือนเม.ย.เน็ตฟลิกซ์ฟ้อง SK Broadband ผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SK Telecom บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่สุดของประเทศ
ทั้งสองบริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ในประเด็นที่เน็ตฟลิกซ์ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ SK Broadband โดยไม่แชร์ค่าใช้จ่ายในส่วนโครงข่าย แม้ทาง SK Broadband ได้ขยายโครงสร้างของโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งานของเน็ตฟลิกซ์