นักท่องเที่ยวยังรักยุโรปแม้มีภัยก่อการร้าย
เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วยุโรปไม่ได้ส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการมาเยือนยุโรปลดน้อยลง
จากผลการศึกษาครั้งล่าสุดในหัวข้อ ‘ประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว’ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เม.ย.จาก สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) หลายประเทศในยุโรปยังคงโดดเด่นติดอยู่ใน 10 อันดับแรก โดยมีสเปนขึ้นนำประเทศอื่นๆ เป็นที่ 1 ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคยุโรปยังคงดึงดูดนักเดินทางจากต่างชาติและสร้างงานด้านการท่องเที่ยวได้สูงมาก
ฝรั่งเศสรั้งอยู่ในอันดับที่ 2 ตามมาด้วยเยอรมนีเป็นอันดับ 3 ขณะที่สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 5 อิตาลีอยู่ในอันดับ 8 และสวิตเซอร์แลนด์อยู่ที่ 10
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230 รายในฝรั่งเศสจากเหตุสะเทือนขวัญที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายจากรัฐอิสลาม อ้างอิงจากสำนักข่าวรอยเตอร์ และล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ปีนี้ มีผู้เสียชีวิต 4 รายจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้นบนสะพานเวสท์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน
ทั้งนี้ ยุโรปมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และสมบูรณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่หนุนการบริการด้านการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยม ระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง การเปิดกว้างกับนานาประเทศ และความรู้สึกที่รับรู้ได้ถึงความปลอดภัยที่อยู่เหนือความกังวลเรื่องการก่อการร้าย อ้างอิงจากรายงานของ WEF
โดยทาง WEF ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำรายงาน ได้จัดอันดับบนพื้นฐานของปัจจัยที่แตกต่าง ทั้งความปลอดภัย สุขภาพ ทรัพยากรบุคคล ราคาที่สามารถแข่งขันได้ โครงสร้างพื้นฐานและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ยุโรปยังคงเป็นตลาดการเดินทางและท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถดึงดูดนักเดินทางได้มากถึง 620 ล้านคน จากจำนวนนักเดินทางทั่วโลกทั้งหมด 1,200 ล้านคนในปี 2559 รองลงมาคือเอเชีย-แปซิฟิก อ้างอิงจากรายงานของ WEF
ญี่ปุ่น เป็นประเทศจากเอเชียที่รั้งอยู่ในอันดับสูงที่สุดคืออันดับ 4 ขณะที่ออสเตรเลียอยู่ที่ 7 ฮ่องกงตามมาเป็นที่ 11 สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 13 และจีนอยู่ที่ 5
“ หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่น แรงงานคุณภาพสูงและรัฐบาลที่เข้าใจในศักยภาพ และให้การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว แต่ยังคงมีความกังวลถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตที่ต่อเนื่องของอุตสาหกรรมนี้ ”
นอกจากราคาที่สามารถแข่งขันได้และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ยังคงอยู่ภายใต้การพัฒนาด้านการเมืองที่ผกผัน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน อ้างอิงจาก WEF.