ญี่ปุ่นวอนเกาหลีใต้ย้ายอนุสาวรีย์หญิงบำเรอ
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นร้องขอให้เกาหลีใต้ย้ายอนุสาวรีย์หญิงบำเรอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่จุดประกายความขัดแย้งทางการทูตระหว่างประเทศ เนื่องจากย้ำเตือนถึงความทุกข์ทรมานของเหล่าทาสสตรีบำเรอกามทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยมีความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค เมื่อญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรย์หญิงบำเรอที่ทางเกาหลีใต้ติดตั้งไว้นอกสถานกงศุลของญี่ปุ่นที่เมืองปูซานเมื่อเดือนธ.ค.ซึ่งเป็นสิ่งทำให้ระลึกถึงผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ทำงานเป็นเสมือนทาสกามของกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองเกาหลีใต้ช่วงสงครามโลก
ญี่ปุ่นโต้แย้งต่อการทำข้อตกลงในปี 2558 ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการให้สิ้นสุดช่วงเวลาแห่งการถูกกระทำอย่างทารุณของหญิงบำเรอด้วยการให้ญี่ปุ่นออกมาขอโทษและชดใช้ค่าเสียหายย้อนหลัง
“ ญี่ปุ่นได้จ่ายเงินไปแล้วถึง 1,000 ล้านเยน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจที่มีต่อความรับผิดชอบของเรา ผมคิดว่าถึงเวลาของเกาหลีใต้ที่จะแสดงความจริงใจที่มีอย่างแน่วแน่บ้าง ” นายกรัฐมนตรีอาเบะกล่าวในรายการที่ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ NHK
สถานการณ์ของหญิงบำเรอทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมานานหลายทศวรรษ แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอาเบะและประธานาธิบดีพัค กึน ฮเยของเกาหลีใต้ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อช่วงปลายปี 2558 เพื่อแก้ไขปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น
ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงนี้ ซึ่งทั้งสองประเทศบรรยายว่า เป็นสิ่งสุดท้ายและย้อนกลับไม่ได้ คือญี่ปุ่นได้ขอโทษและจ่ายเงินจำนวน 1,000 ล้านเยนให้กับหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้ที่ยังมีชีวิตอยู่
คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้จะมีคณะรัฐบาลใหม่หลังจากการถอดถอนประธานาธิบดีพัค กึน ฮเย แต่ผู้นำญี่ปุ่นต้องการให้ข้อตกลงยังคงเป็นไปเช่นเดิม “ เป็นเครดิตของประเทศที่ควรปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลใหม่ก็ตาม ” นายกฯ อาเบะกล่าว
ทั้งนี้ มีเสียงวิจารณ์ว่าข้อตกลงไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของญี่ปุ่นในช่วงสงครามมากเพียงพอหลังจากญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีใต้เป็นอาณานิคมในช่วงปี 2453 – 2488
นักประวัติศาสตร์ในกระแสหลักกล่าวว่ามีหญิงบำเรอถึง 200,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้และมีบางส่วนที่มาจากประเทศอื่น เช่น จีน ต้องถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามกับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในระยะแรก อนุสาวรีย์หญิงบำเรอในเมืองปูซานถูกย้ายออกไปโดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นหลังจากนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมในเกาหลีใต้มาติดตั้งไว้หน้าสถานกงศุลญี่ปุ่น แต่หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นได้ไปคารวะศาลเจ้ายาสุคุนิเมื่อเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นสถานทีที่เชิดชูยกย่องการกระทำของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางกรุงโซลจึงอนุญาตให้บรรดานักเคลื่อนไหวทางสังคมย้าย อนุสาวรีย์กลับมาอยู่ที่หน้าสถานกงสุลญี่ปุ่น ในเมืองปูซานอีกครั้ง.
หมายเหตุ 100 เยน = 31.57 บาท / 8 ม.ค. 2560