อินเดียติดเชื้อแซงบราซิลขึ้นที่ 2 ของโลก
มุมไบ (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 7 ก.ย. อินเดียขยับแซงบราซิลขึ้นมากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ โดยอินเดียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 90,082 ราย ขณะที่หลายเมืองเปิดให้บริการรถไฟใต้ดินอีกครั้งหลังจากปิดมานานหลายเดือน
จนถึงตอนนี้ อินเดียมีตัวเลขผู้ป่วยสะสมจากโควิด-19 สูงเกิน 4.2 ล้านรายแล้ว เป็นรองจากสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวที่มีตัวเลขผู้ป่วยสะสมถึง 6.2 ล้านราย โดยอินเดียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันมากกว่าประเทศอื่นๆในปีนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไม่มีสัญญาณของจุดพีค เนื่องจากยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นในประเทศอินเดีย ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งในเมืองใหญ่ เช่นกรุงนิวเดลีและเมืองศูนย์กลางการค้าอย่างมุมไบ และในชนบทที่มีการเข้าระบบสาธารณสุขได้อย่างจำกัด
“ นี่กลายเป็นภาระซ้อนสองในปัจจุบัน” Rajip Dasgupta ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพชุมชนที่มหาวิทยาลัยยาวาฮาร์ลาล เนห์รูในเมืองหลวงกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อ
“ คือในเมือง การติดเชื้อก็ยังไม่ชะลอตัวลดลง และในชนบทก็ติดเชื้อเพิ่มขึ้น”
การติดเชื้อที่พุ่งทะยานในวันที่ 7 ก.ย. นับเป็นวันที่สามติดต่อกันในอินเดีย จากข้อมูลของรัฐบาลอินเดีย ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมจากโควิด-19 ในอินเดียสูงกว่าในบราซิล ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่กว่า 4.1 ล้านราย แม้ความแตกต่างของเวลาจะทำให้บราซิลเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ในเวลาต่อมา
โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตในอินเดียอยู่ที่ 71,642 ราย เมื่อเทียบกับในสหรัฐฯที่มีตัวเลขเกือบ 193,000 ราย และในบราซิลอยู่ที่ 126,000 ราย
อินเดียชี้แจงว่า ตัวเลขที่สูงขึ้นสะท้อนถึงอัตราการตรวจหาเชื้อทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเสริมว่า อัตราผู้ป่วยที่รักษาหายดีแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ในการตรวจ การสอบสวนโรค และการรักษาที่ได้ผล และสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้
รถไฟใต้ดินในกรุงนิวเดลีที่เปิดให้บริการอีกครั้ง มีผู้โดยสารไม่มากนักหลังจากหยุดไปนานกว่า 5 เดือน โดยหลายสถานีแทบจะร้างผู้คน และในวันที่ 9 ก.ย. บาร์จะเปิดให้บริการได้ในกรุงนิวเดลี
รถไฟใต้ดินยังเปิดให้บริการในบางส่วนในเมืองอาห์เมดาบัด ทางตะวันตกของอินเดีย , เมืองทางเหนืออย่างเมืองลัคเนาและอีกหลายพื้นที่ หลังจากยกเลิกการให้บริการมานานเกือบ 6 เดือนในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีถูกกดดันมากขึ้นให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาจากภาวะซบเซาหลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่เดือนมี.ค. ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก ประชาชนหลายล้านคนตกงาน และทำให้จีดีพีของอินเดียหดตัวลงถึง 24% ในไตรมาสเดือนมิ.ย.