ไต้ฝุ่น ‘ไห่เฉิน’ กระหน่ำญี่ปุ่น
พายุไต้ฝุ่นไห่เฉินขึ้นฝั่งถล่มพื้นที่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์และเคลื่อนตัวไปทางเหนือมุ่งไปที่เกาหลีใต้ในวันที่ 7 ก.ย. หลังจากก่อให้เกิดคลื่นลมแรงเกือบทั้งภูมิภาคคิวชู และทางการท้องถิ่นขอให้ประชาชนกว่า 8 ล้านคนอพยพหนีเส้นทางการเคลื่อนตัวของไต้ฝุ่น
ในเช้าวันที่ 7 ก.ย. จากการประเมินเบื้องต้นชี้ว่า พายุทำความเสียหายน้อยกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม พายุทำให้บ้านเรือนนับแสนหลังคาเรือนในคิวชูไม่มีไฟฟ้าใช้
โดยไต้ฝุ่นไห่เฉินอ่อนแรงลงเมื่อใกล้ขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่น และย้ายทิศทางไปทางตะวันตกของมหาสมุทร แต่ยังคงเป็นพายุที่มี “ขนาดใหญ่” และ “มีกำลังแรงสูงสุด”
มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากไต้ฝุ่นอย่างน้อย 18 รายในจังหวัดคาโกชิมา , คุมาโมโตะ , มิยาซากิ และนางาซากิ
ทางการประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดและขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง คลื่นสูงและน้ำขึ้นจากพายุ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนก่อนหน้านี้หลายวันให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับพายุไต้ฝุ่น
ทางกรมอุตุฯยังระบุว่า เตรียมออกประกาศเตือนภัยไต้ฝุ่นเป็นพิเศษสำหรับชาวเมืองในจังหวัดคาโกชิมาในเช้าวันที่ 6 ก.ย. แต่ตัดสินใจไม่ประกาศหลังจากพายุอ่อนกำลังลงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในเช้าวันที่ 7 ก.ย. ประมาณ 476,000 ครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ จากรายงานของการไฟฟ้าคิวชู ก่อให้เกิดความกังวลว่าหลายคนจะมีอาการฮีทสโตรกหากไม่มีไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ
ทางการออกคำสั่งอพยพและคำแนะนำกับประชาชนกว่า 8.59 ล้านคนจากประมาณ 4 ล้านครัวเรือนในคิวชูและพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ
รัฐบาลเมืองมิยาซากิระบุว่า ศูนย์พักพิงสำหรับผู้อพยพบางแห่งไม่สามารถรองรับผู้อพยพได้เพียงพอ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
เพื่อป้องกันน้ำท่วม กระทรวงทรัพยากรระบุว่าได้ปล่อยระบายน้ำจาก 73 เขื่อนใน 11 จังหวัด ที่ตั้งอยู่ในคิวชู และพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา
ไต้ฝุ่นยังส่งผลทำให้มีการระงับบริการขนส่งสาธารณะ สายการบินแจแปนแอร์ไลน์และออลนิปปอนแอร์เวย์ระงับการบินกว่า 300 เที่ยวบิน สำหรับเที่ยวบินขาไปและขากลับคิวชูและโอกินาวา และตัดสินใจระงับกว่า 370 เที่ยวบินในวันที่ 7 ก.ย.
ขณะที่การรถไฟคิวชูระบุว่า มีการระงับการให้บริการรถไฟหัวกระสุนและรถไฟธรรมดาในวันที่ 7 – 8 ก.ย.และจะค่อยๆกลับมาให้บริการอีกครั้งหลังมีการยืนยันเรื่องความปลอดภัย
พายุไต้ฝุ่นลูกที่สองที่ขึ้นฝั่งญี่ปุ่นในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีโรงงานในคิวชูและพื้นที่ตะวันตก เช่น โตโยต้า นิสสัน และโซนี ตัดสินใจระงับการผลิตในวันที่ 7 ก.ย.เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน
SoftBank Corp. ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระบุว่า บริการสื่อสารของบริษัทถูกกระทบในวันที่ 6 ก.ย. ในบางพื้นที่ของจังหวัดคาโกชิมาและโอกินาวาจากกระแสไฟฟ้าดับและสายเคเบิลที่เชื่อมต่อจากสถานที่ฐานขัดข้องจากพายุไห่เฉิน ขณะที่อีกบริษัทคือ KDDI Corp ก็รายงานระบบสื่อสารขัดข้องในจ.คาโกชิมาและนางาซากิจากผลกระทบของไต้ฝุ่นไห่เฉินและไต้ฝุ่นไมสักที่ถล่มญี่ปุ่นในสัปดาห์ก่อน