วิกฤติเงินในอินเดียอาจฉุดเศรษฐกิจ
ความปั่นป่วนยุ่งเหยิงจากการยกเลิกการใช้ธนบัตรในอินเดียอาจหยุดความร้อนแรงของเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขยายตัวสูงสุด
อินเดียแซงจีนขึ้นไปเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงที่สุดในโลกในปีนี้ แต่อาจต้องร่วงลงมาอยู่ตามหลังจีนอีกครั้งจากวิกฤติธนบัตรครั้งใหญ่ในครั้งนี้ของอินเดีย
นักวิเคราะห์ประเมินว่า การยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ 500 และ 1,000 รูปีของอินเดีย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 86% ของกระแสเงินสดที่หมุนเวียนใช้อยู่ในประเทศจะส่งผลให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีลดลงอย่างน้อย 1% จากตัวเลขจีดีพีในปัจจุบันอยู่ที่ 7.1%
“ ผมไม่แปลกใจเลยถ้าตัวเลขจีดีพีของอินเดียจะดิ่งลงมาถึง 3% จากตัวเลขปีนี้ ” นายโปรนับ เสน อดีตหัวหน้านักสถิติของอินเดียกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น นายเสนเป็นผู้แทนประเทศอินเดียที่ International Growth Centre ในกรุงลอนดอน
หากวิกฤติการเงินครั้งนี้เกิดขึ้นยาวนานอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจอินเดียพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างจีนได้ อ้างอิงจากความเห็นของนายโธมัส รุคมาคเกอร์จาก Fitch Ratings
ทั้งนี้ ยังไม่มีสัญญาณของความตกต่ำทางเศรษฐกิจในขณะนี้ อ้างอิงจากธนาคารกลางของอินเดีย (RBI)
โดยเงินจำนวน 5 ล้านล้านรูปี ( 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่เป็นธนบัตรเก่าไหลออกจากระบบเศรษฐกิจหลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิประกาศมาตรการยกเลิกการใช้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.
จนถึงตอนนี้ มีธนบัตรใหม่ใบละ 500 และ 2,000 รูปีเพียง 1 ล้านล้านรูปี (15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่เข้ามาทดแทนการใช้งานเดิม นอกจากนี้ ธนบัตรใหม่ยังมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับเครื่องเอทีเอ็มและการแก้ไขเครื่องเอทีเอ็มอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
โดยรัฐบาลอินเดียให้เวลาประชาชน 50 วันจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.ในการนำธนบัตรเดิมมาเปลี่ยนเป็นธนบัตรใหม่ แต่มีการจำกัดปริมาณการแลกในแต่ละวันและแต่ละสัปดาห์
ภาคส่วนธุรกิจต่างๆ ในอินเดียเช่น ค้าปลีก ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพึ่งพาการใช้เงินสดจำนวนมากคิดเป็นประมาณ 30% ของตัวเลขจีดีพี อ้างอิงจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประเมินว่าผลกระทบครั้งนี้จะฉุดตัวเลขเศรษฐกิจของอินเดียลงมากกว่า 2% ในสองไตรมาสข้างหน้า วิกฤติการเงินครั้งนี้ฉุดให้ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 68.86 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีรายงานว่าธนาคารกลางอินเดียกำลังขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ออกเพื่อหยุดไม่ให้เงินรูปีอ่อนค่าลงไปอีก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีโมดิหวังว่าการเปลี่ยนมาใช้ธนบัตรใหม่จะช่วยลดการเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินได้ดูเหมือนว่าตัวเขายังคงได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก และนักวิเคราะห์มองว่า หากมีนโยบายนี้ใช้ควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ในอนาคต จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.78 บาท / 25 พ.ย. 2559