สโลวีเนียออกกฎคุ้มเข้ม “ น้ำ ”
ประเทศเล็ก ๆ ที่มีน้ำน้อยอย่างสโลวีเนีย กำลังออกกฎหมายควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า และห้ามนำน้ำไปใช้เพื่อเชิงพาณิชย์
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ย.59 ที่ผ่านมา ว่า สโลวีเนีย ประเทศเล็กๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับประกันสิทธิ์การเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ของพลเมืองและห้ามใช้น้ำที่เป็นทรัพยากรของชาติโดยรวมเพื่อการพาณิชย์
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของสโลวีเนียมีขึ้นขณะประเทศอื่นๆ พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง สิทธิมนุษยชนและอื่นๆ เพราะเล็งเห็นแล้วว่า น้ำคือทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของประชากรทั้ง 2 ล้านคนของประเทศ จึงต้องทำให้เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนในชาติได้เข้าถึงน้ำกินน้ำใช้ และห้ามนำไปหากินเชิงการค้า
ข่าวระบุว่า ร่าง ก.ม. แก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แม้จะมี ส.ส.ฝ่ายค้านงดออกเสียง เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็นและรัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้ผ่านสภา เพราะต้องการหาเสียงจากมวลชน แต่สุดท้ายผ่านสภาจนได้ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 64 เสียงจาก ส.ส. ในสภาที่มีทั้งหมด 90 เสียง
ก่อนหน้าจะเปิดให้มีการลงมติรับไม่รับร่าง ก.ม. แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีมิโร เซร์ราของสโลวีเนีย ได้กล่าวเรียกร้องให้ ส.ส. ลงมติสนับสนุน ระบุว่าสโลวีเนีย ควรปกป้องน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นทองคำเหลวแห่งศตวรรษ 21 ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด เพราะในอนาคต น้ำในสโลวีเนียที่คุณภาพดีจะต้องเป็นเป้าหมายของต่างชาติและบริษัทข้ามชาติ เมื่อน้ำกำลังกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ
สโลวีเนีย ถือเป็นประเทศแรกในอียูที่กำหนดเรื่องสิทธิ์เข้าถึงน้ำไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ยังมีประเทศ อื่นๆ ได้ทำไว้ก่อนหน้าสโลวีเนียแล้ว 15 ประเทศทั้งนี้เป็นไปตามข้อมูลขององค์กร “ เพอร์มาเนนท์ เวิลด์ รีพอร์ต ออน ไรท์ ทู วอเตอร์ ” ซึ่งติดตามการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรน้ำทั่วโลก ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี อินเตอร์แนชนัล เรียกร้องให้รัฐบาลสโลวีเนียดูแลชนกลุ่มน้อยชาวโรมาให้เข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้อียู ได้เห็นชอบร่วมกันในปี 2557 ที่จะไม่รวมเอาการจัดหาน้ำและการบริหารจัดการแหล่งน้ำในแต่ละประเทศสมาชิกอียูเข้าอยู่ในกฎระเบียบซึ่งใช้บังคับตลาดภายในของอียู