จีนย้ำฮ่องกงต้องมีเสถียรภาพ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเรียกร้องให้นายเหลียง จุนยิง ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงดำรงความเป็นปึกแผ่นมีเสถียรภาพทั้งทางสังคมและการเมือง อ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันที่ 21 พ.ย.
มีการประชุมนอกรอบของผู้นำทั้งสองคนในช่วงการประชุม เอเปก ซัมมิต ในกรุงลิมา ของประเทศเปรู เนื่องจากมีความกังวลอย่างจริงจังของรัฐบาลจีน จากการประท้วงเพื่อเรียกร้องอิสรภาพในฮ่องกง และมีการชุมนุมบนท้องถนนไปทั่วเมือง
ประธานาธิบดีสีหวังว่า นายเหลียงจะสามารถสร้างความสามัคคีเป็นปึกแผ่นและคงเสถียรภาพของฮ่องกงไว้ได้ทั้งทางสังคมและการเมือง โดยผู้นำของจีนจะให้การสนับสนุนนายเหลียงและคณะรัฐบาลผู้บริหาร
อย่างเต็มกำลัง โดยการย้ำครั้งนี้เป็นเสียงสะท้อนคำพูดของประธานาธิบดีสีในกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเขากล่าวว่า จีนจะไม่ยอมเสียดินแดนที่เป็นของจีน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนใด
โดยผู้นำฮ่องกงให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีสิมีความเห็นที่จริงจังมากในเรื่องอิสรภาพของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
“ เป็นความเห็นทีเรียบง่ายและจริงจังมาก ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า ไม่มีพื้นที่สำหรับอิสรภาพของฮ่องกง ภายใต้ระบบการปกครองแบบ จีนเป็นหนึ่งเดียว แต่มี 2 ระบบการบริหารจัดการ ” นายเหลียงกล่าว
โดยเสริมว่า ทั้งสองคนไม่ได้ใช้เวลาปรึกษากันนานนัก เพราะการประชุมมีกำหนดเวลาแค่ 45 นาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่แล้ว ศาลสูงของฮ่องกงสนับสนุนรัฐบาลด้วยการตัดสินให้มีการจำคุก 2 ส.ส.ในสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนคำตัดสินของศาล มีนักกฎหมายประมาณ 2,000 คน ที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านจีน โดยกล่าวว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพที่ยุติธรรมของฮ่องกง
ผู้บริหารฮ่องกงกล่าวว่า ประธานาธิบดีสียืนยันว่า การตีความตามกฎหมายเป็นเรื่องจำเป็น
ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 2 คนคือเหยา ไวชิง วัย 25 ปี และ บักจิโอ เหลียง วัย 30 ปี เป็นผู้จุดประกายความขัดแย้งขึ้นในเดือนต.ค. เมื่อทั้งสองคนชูป้ายที่มีข้อความว่า “ ฮ่องกงไม่ใช่จีน ” และแสดงท่าทีไม่เหมาะสมขณะกล่าวคำสาบานตน
ผู้ประท้วงที่โกรธเคืองมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. โดยต่างพากันกางร่มเพื่อกัน
สเปรย์พริกไทยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดใส่ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญในปี 2557 ที่ถูกเรียกว่า “ การปฏิวัติร่ม ”
ทั้งนี้ ฮ่องกงซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้กลับคืนเป็นของจีนในปี 2540 ภายใต้การปกครองแบบ “ จีนหนึ่งเดียว 2 ระบบ ”