เศรษฐกิจญี่ปุ่น Q2 ดิ่งสุด 7.8%
โตเกียว : เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวลง 7.8% ในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย. ซึ่งเป็นการหดตัวติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เนื่องจากโรคระบาดโควิด -19 ส่งผลกระทบร้ายแรงกับเศรษฐกิจ
การหดตัวลงของตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากไตรมาสก่อนหน้าแย่กว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย แต่ยังคงไม่ร้ายแรงเท่าผลกระทบด้านลบที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
แต่ยังคงเป็นการหดตัวดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจญี่ปุ่น นับตั้งแต่เริ่มมีการเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2523 เลวร้ายกว่าช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551
และนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ถดถอยมากที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณในปี 2523 ที่ทำให้การเปรียบเทียบซับซ้อนยิ่งขึ้นก็ตาม
ข้อมูลทางการเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ของตลาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ 7.6% เป็นตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำโดยสื่อนิกเคอิ
เป็นไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องกันที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตติดลบ ยืนยันชัดถึงการถดถอยของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลให้มีการคาดเดาว่า รัฐบาลจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
“ คาดการณ์ว่าข้อมูลทางการจะแสดงให้เห็นถึงความเสียหายร้ายแรงที่สุดจากผลกระทบด้านลบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อเศรษฐกิจ” โยชิกิ ชินเกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Daiichi Life Reaearch Institute ระบุในเอกสารก่อนที่จะมีการเผยแพร่ข้อมูล
“ การดิ่งร่วงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนเม.ย. – พ.ค. ภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากดีมานด์ภายในประเทศและนอกประเทศลดฮวบ ”
เศรษฐกิจหดตัวด้วยอัตรา 27.8% ต่อปี เนื่องจากดีมานด์ในประเทศร่วงลง 4.8% และการส่งออกสินค้าและบริการดิ่งฮวบถึง 18.5% แต่การนำเข้าปรับลดลงเพียง 0.5% ดีกว่าที่เคยร่วง 4.2% ในไตรมาสเดือนม.ค. – มี.ค.
สำนักคณะรัฐมนตรีระบุว่า ในปี 2562 จนถึงเดือนมี.ค.2563 ตัวเลขจีดีพีจริงของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.0% เมื่อเทียบกับ 0.3% ในปีงบประมาณ 2561
“ การทรุดตัวของการบริโภคส่วนบุคคล เป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังดีมานด์ในประเทศที่อ่อนแรง การบริโภคส่วนบุคคลซบเซาลงในเดือนเม.ย. – พ.ค. เมื่อมีประกาศภาวะฉุกเฉินในญี่ปุ่น” นาโอยะ โอชิคุโบ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ SuMi Trust ระบุก่อนที่จะมีการตีพิมพ์ข้อมูล
“ การลงทุนในสินทรัพย์ประเภททุนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความผันผวนทำให้หลายบริษัทชะลอแผนการลงทุน” เขาระบุ
แม้ตัวเลขจะย่ำแย่ แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นได้ โดยโอชิคุโบคาดว่าจะมีการเติบโต 2.6% ในไตรมาสเดือนก.ค.- ก.ย.
“ การฟื้นตัวจะได้แรงขับเคลื่อนจากดีมานด์ในประเทศและนอกประเทศ เมื่อชาติตะวันตกกลับสู่ภาวะปกติหลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ” โอชิคุโบระบุ
โดยเขาระบุว่า การบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งดิ่งลง 8.2% ในไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย. จะได้ประโยชน์จากเงิน 1 แสนเยนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทีรัฐบาลจ่ายให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน