เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเกินคาด
เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเร็วเกินคาดการณ์ในไตรมาสเดือน ก.ค. – ก.ย. โดยแรงหนุนสำคัญมาจากการส่งออกที่มีการขยายตัว 3 ไตรมาสต่อเนื่องกัน แต่กิจกรรมธุรกิจในประเทศยังคงซบเซา สร้างความกังขาในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ข้อมูลจากรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการส่งออก ถึงแม้ข่าวช็อคโลกที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสร้างความผันผวนให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
โดยมีความกังวลว่าการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อาจกระทบญี่ปุ่น ถ้าการต่อต้านการทำข้อตกลงการค้าเสรีกลายเป็นความจริง
แต่หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง เงินเยนกลับอ่อนค่าลงต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาสินค้าของญี่ปุ่นมีราคาถูกลงในต่างประเทศ ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกญี่ปุ่น
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราประจำปีที่ 2.2% ในไตรมาสเดือน ก.ย.สูงกว่า 0.9% ที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย. มีการขยายตัวอยู่ที่ 0.7% อ้างอิงจากข้อมูลของคณะรัฐมนตรีนับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 แล้วของญี่ปุ่น
โดยตัวเลขนี้คิดเป็นการประมินเบื้องต้นของตัวเลขจีดีพีต่อไตรมาสอยู่ที่ 0.5% ในไตรมาส 3 ซึ่งยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 0.2% จากนักวิเคราะห์
ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็น 60 % ของตัวเลขจีดีพี เพิ่มขึ้น 0.1% ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 2 ส่วนรายจ่ายฝ่ายทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของจีดีพียังคงเดิม คือเท่ากับ 0.1% ในไตรมาส 2 เนื่อง จากความกังวลในแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกและค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกับการลงทุนทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ดีมานด์นอกประเทศ หรือการส่งออกลบด้วยการนำเข้า เพิ่มขึ้น 0.5% ต่อจีดีพี จากการดีดกลับขึ้นมาของการส่งออกจากไตรมาสก่อนหน้า และการนำเข้าที่ลดลงกระทบค่าเงินเยน ราคาน้ำมันที่ลดลงและดีมานด์ในประเทศที่ลดลง
นับเป็นปัจจัยด้านบวกที่เป็นแรงหนุนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสเดือน เม.ย. – มิ.ย. ปี 2557 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ตัวเลขนี้อาจอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการส่งออก
“ การบริโภคไม่ดีนัก และรายจ่ายฝ่ายทุนก็ไม่เติบโต และญี่ปุ่นพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศมาก ” นายทาคุจิ โอคุโด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Japan Macro Advisers กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี.