เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยหนัก
ลอนดอน – ตัวเลขเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหดตัวติดลบถึง 20.4% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ เป็นไตรมาสที่ย่ำแย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ฉุดให้ประเทศดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
ตัวเลขจีดีพีที่ดิ่งร่วงในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย. เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก นับว่าเลวร้ายที่สุดย้อนหลังไปถึงปี 2498 หลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั้งบริการ , การผลิตและการก่อสร้าง
“ ตัวเลขวันนี้ยืนยันว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากมาถึงแล้ว” ริชิ ซูนัค รมว.กระทรวงการคลังระบุในแถลงการณ์
“ คนหลายแสนคนตกงาน และน่าเศร้าที่อีกไม่กี่เดือนหน้าก็อาจมีคนตกงานเพิ่มอีก แม้จะมีทางเลือกที่ยาก แต่เราก็ต้องผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้ และผมแน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งโดยไร้ความหวังและโอกาส”
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2562 ตัวเลขเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรดิ่งลงถึง 22.1% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แย่กว่าเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี และแย่กว่าสหรัฐฯถึงสองเท่า
เมื่อเทียบกับบรรดากลุ่มประเทศ G7 คาดการณ์ว่าจีดีพีของสหราชอาณาจักรจะย่ำแย่สุด โดยแคนาดารายงานตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในไตรมาส 2 ว่าจะหดตัวลง 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่รอยเตอร์ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวลง 7.6%
ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรประกาศมาตรการล็อกดาวน์หลังอิตาลีสองสัปดาห์ หลังสเปน 10 วัน และหลังฝรั่งเศส 1 สัปดาห์ ทำให้ใช้เวลามากกว่าในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และปิดธุรกิจนานกว่าประเทศอื่นๆ
เมื่อเทียบกับอิตาลี ร้านอาหาร คาเฟ่และร้านทำผมเริ่มเปิดบริการได้กลางเดือนพ.ค. ขณะที่สหราชอาณาจักรต้องรอจนถึง 4 ก.ค.จึงจะเปิดบริการได้ ขณะที่เยอรมนีให้ร้านค้าต่างๆ เช่นร้านหนังสือ ร้านจักรยาน และอะไหล่รถยนต์เปิดบริการได้ตั้งแต่ 20 เม.ย. เกือบสองเดือนก่อนร้านค้าปลีกในสหราชอาณาจักรจะเปิดบริการได้อีกครั้ง
ตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ธุรกิจในสหราชอาณาจักรเริ่มปิดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีงานหายไปประมาณ 730,000 อัตรา ทำให้ทั้งคนหนุ่มสาว ผู้สูงวัย และผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องตกอยู่ในวิกฤตว่างงาน
คัลลัม พิกเคอริง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ Berenberg ระบุว่า ตัวเลขจีดีพีนี้ส่งสัญญาณไม่ดีนักสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
“ ข้อมูลเศรษฐกิจถดถอยทำให้ยากที่จะฟื้นตัวได้เร็ว การหดตัวเกินคาดชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยลบที่จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 9.5% ตลอดปีนี้”
สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษ (Confederation of British Industry) ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าจะมีการฟื้นตัวอย่าง
มั่นคง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาพคล่องที่หล่อเลี้ยงบริษัทจำนวนมาก และยังมีความผันผวนจากความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรกับอียู
“ ปัจจัยลบจากการระบาดระลอกสองและการเจรจาเบร็กซิทที่ล่าช้าล้วนเป็นสิ่งที่น่ากังวล” อัลเปช ปาเลจา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ CBI ระบุในแถลงการณ์
จนถึงตอนนี้ รัฐบาลยังล้มเหลวไม่สามารถบรรลุข้อตกลงส่วนใหญ่ระหว่างอียูและประเทศที่สาม ซึ่งจะไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกของสหราชอาณาจักรในช่วงสิ้นปี 2563 นี้