ผลผลิตโรงงานในเอเชียพุ่ง

จีนรายงานผลผลิตโรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นในเดือน ต.ค. ถึงแม้ในเกาหลีใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังซบเซา และแนวโน้มเงินเฟ้อจากธนาคารกลางญี่ปุ่นทำให้ตลาดชะลอตัว
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ( PMI) ของจีนขยายตัวเร็วที่สุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มความเห็นที่ว่าเศรษฐกิจของจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนสำคัญจากสินเชื่อและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังบูม
กิจกรรมโรงงานในอินเดียมีการขยายตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2557 เป็นต้นมา โดยได้แรงขับเคลื่อนจากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ ทำให้อินเดียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชียยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่นักลงทุนยังคงระมัดระวังเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.และความกังวลจากผลกระทบในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ถึงแม้จะมีแนวโน้มที่ดีในเอเชียก็ตาม
นอกจากนี้ ความผันผวนยังคงเพิ่มขึ้นจากแคมเปญการเลือกตั้งในสหรัฐฯที่เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายแล้ว
ในจีน ยังคงมีความกังวลว่ากิจกรรมในโรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนล่าสุดนี้จะไม่คงอยู่นานนัก เนื่องจากอัตราการกู้ยืมที่ชะลอตัวและรัฐบาลกำลังกดราคาบ้านที่พุ่งทะยานให้ลงมาอยู่ในระดับปกติ
สำหรับอินเดีย ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจทำให้มีความเสี่ยงของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจขัดขวางธนาคารกลางอินเดียที่จะผ่อนคลายนโยบายทางด้านดอกเบี้ยในอนาคต
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ธนาคารกลางญี่ปุ่นเลื่อนการขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป ถึงแม้จะมีการผลักดันให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ตามเป้าที่วางไว้
กิจกรรมการผลิตของญี่ปุ่นมีการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 9 เดือนในเดือนต.ค. เนื่องจากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ปรับเพิ่มขึ้น อ้างอิงจากผลสำรวจของธุรกิจภาคเอกชนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ก่อให้เกิดความหวังสำหรับการดิ้นรนทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
แต่ผลสำรวจโรงงานสำหรับ 2 ประเทศผู้ส่งอออกเทคโนโลยีสำคัญคือไต้หวันและเกาหลีใต้ กลับตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิงในเดือนต.ค. ในขณะที่ภาคการผลิตของไต้หวันมีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในรอบ 2 ปี จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือนแล้ว
แต่ดัชนี PMI ของเกาหลีใต้หดตัวลง 3 เดือนติดต่อกัน และเป็นการตกต่ำลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2558 ขณะที่แนวโน้มธุรกิจผ่อนคลายขึ้น แต่ความซบเซาของดีมานด์ทั่วโลกกระทบการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกของเกาหลีใต้ อ้างอิงจากผลสำรวจของภาคเอกชน
นอกจากนี้ กิจกรรมโรงงานยังคงหดตัวในอินโดนีเซียและมาเลเซียในเดือนต.ค. ขณะที่เวียดนามยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากผลสำรวจของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ IHS Markit ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา.