อินเดียติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 2 ล้านคน
นิวเดลี : เมื่อวันที่ 7 ส.ค. อินเดียรายงานตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมโควิด-19 ที่พุ่งสูงทะลุ 2 ล้านราย หลังจากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดดกว่า 60,000 รายในวันเดียว
ทำให้จนถึงตอนนี้ อินเดียมียอดผู้ป่วยสะสมจากโควิด -19 มาที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากสหรัฐฯและบราซิล อัตราการแพร่ระบาดยังมีท่าทีจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
โดยอินเดียใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์จากที่เคยมีผู้ติดเชื้อ 1 ล้านรายแรก พุ่งทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 2.03 ล้านรายในปัจจุบัน และมีผู้เสียชีวิต 41,585 ราย
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ในหลายเมืองที่แออัดที่สุดในโลก
จำนวนงบประมาณด้านสาธารณสุขต่อหัวประชากรของอินเดียน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง เพราะแรงงานอพยพย้ายถิ่นหลายสิบล้านคนตกงานในชั่วข้ามคืน ทำให้ต้องมีการผ่อนคลายมาตรการลง
แต่ละรัฐและแต่ละเมืองประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ของตัวเอง รวมทั้งฮับไอทีอย่างเมืองบังกาลอร์ในเดือนก.ค. รัฐพิหาร ทางตะวันออกและบางพื้นที่ของรัฐทมิฬนาฑู
โดยก่อนหน้านี้ จุดศูนย์กลางการระบาดเป็นเมืองใหญ่อย่างเมืองหลวงคือกรุงนิวเดลีและเมืองมุมไบ ซึ่งมีสลัมขนาดใหญ่ที่สุดของโลกหลายแห่งตั้งอยู่
แต่ตอนนี้เมืองที่มีขนาดเล็กลงมาและพื้นที่ชนบท ซึ่งประชากร 70% อาศัยอยู่ เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อินเดียมีอัตราการตรวจหาเชื้อไวรัสอยุ่ที่ 16,500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 190,000 คนในสหรัฐฯ จากการประเมินของ Worlddometer
ผลการศึกษาในสัปดาห์ก่อนที่มีการสุ่มตรวจแอนติบอดี้ระบุว่า 57% ของประชากรที่อาศัยในสลัมมุมไบได้ติดเชื้อไปแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าข้อมูลของทางการมาก
ขณะที่ผลการศึกษาก่อนหน้านั้นในเดือนก.ค.ชี้ว่า เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรในกรุงนิวเดลี ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขทางการเกือบ 40 เท่า
ยอดผู้เสียชีวิตในความเป็นจริงก็อาจสูงกว่าตัวเลขทางการด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้แต่ในเวลาปกติ สาเหตุของการเสียชีวิตจำนวนมากก็ไม่ได้มีการบันทึกอย่างถูกต้องเหมาะสม
โดยหลักฐานชี้วา ประชาชนในเมืองเล็กกว่าและในพื้นที่ชนบทก็เพิกเฉยละเลยการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและไมสวมหน้ากาก
น้ำท่วมจากมรสุมในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนหลายล้านคน ยิ่งสั่นคลอนความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อควบคุมการระบาด
นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อบางรายถูกต่อต้านจากชุมชนที่อาศัยอยู่ ทำให้เป็นเหมือนมลทินและผลักให้ผู้คนถอยห่างออกจากการตรวจหาเชื้อ
“โรคติดต่อใหม่ มีระดับความซับซ้อนและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งส่งผลกับการเว้นระยะห่างทางร่างกาย นำไปสู่ความกลัว ความหวาดหวั่นและทำให้มีมลทิน” ราจิบ กุมาร ผอ.ศูนย์การแพทย์ประจำมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ระบุ
“ มีทั้งความกลัวโรคติดต่อ และการแยกตัวเองและการถูกกักตัว” เขากล่าว