อิโมจิโชว์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสหรัฐฯ
รูปหน้ายิ้ม อาหารและแมวที่ถูกออกแบบมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วโดยบริษัทโทรศัพท์มือถือชั้นนำของญี่ปุ่นและใช้ในการส่งข้อความแบบดิจิทัลทั่วโลกได้รับการรับรองให้มีสถานภาพใหม่ทางศิลปะ
โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ชื่อดังในมหานครนิวยอร์กได้รับลิขสิทธิ์ในการจัดแสดง ‘อิโมจิ’ ในคอลเลคชั่นถาวรควบคู่ไปกับผลงานของศิลปินด้านศิลปะสมัยใหม่ระดับโลกอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ่และ แจ็คสัน พอลแล็ค อ้างอิงจากรายงานของทางพิพิธภัณฑ์
ยังไม่มีความชัดเจนว่า อิโมจิเหล่านี้ได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ MoMA ได้อย่างไร แต่การติดตั้งมีกำหนดที่จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ในช่วงต้นเดือนธ.ค.
บริษัทนิปปอน เทเลกราฟและโทรศัพท์ หรือ NTT DOCOMO ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายสำคัญของญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนาอิโมจิชุดดั้งเดิมที่มี 176 รูปแบบและเริ่มใช้ในโทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์ของญี่ปุ่นในปี 2542
รูปภาพหัวใจ ลูกศร และ ท่าทางของมือ เป็นพิมพ์เขียวหรือต้นตำรับสำหรับอิโมจิที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ และเป็นการแผ่ขยายวิธีการสื่อสารจากขนาดหน้าจอที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพให้กับอุปกรณ์แห่งยุคสมัย
นางปาโอลา อันโตเนลลิ ภัณฑารักษ์อาวุโสของฝ่ายสถาปัตยกรรมแและการออกแบบของพิพิธภัณฑ์ MoMA กล่าวว่า ภารกิจบางส่วนของพิพิธภัณฑ์คือการรวบรวมและจัดแสดงศิลปะและการออกแบบที่ไร้ขีดจำกัดของเวลา
“ อิโมจิเป็นคอนเซ็ปท์ในการย้อนกลับไปสู่หลายศตวรรษที่ผ่านมา ไปสู่การใช้เครื่องหมาย อักษรอียิปต์โบราณ และเครื่องหมายกราฟิกอื่นๆ ช่วยให้เราดึงเส้นโค้งที่สวยงามที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษย์ออกมาได้ ” อันโตเนลลิกล่าวในงานแถลงข่าว
ทั้งนี้ อิโมจิดั้งเดิม ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยนายชิเงทากะ คูริตะ ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น และในที่สุดก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในปี 2549 บริษัทอัลฟาเบท อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลได้ยื่นข้อเสนอให้มีการใช้อิโมจิในบริการของจีเมลและแอปเปิลได้เพิ่มอิโมจิเข้าไปในเมสเสจแอพพลิเคชั่นของ iOS ด้วยในปี 2554
การจัดแสดงคอลเลคชั่นอิโมจิเกิดขึ้นหลังจากทางพิพิธภัณฑ์ MoMA สร้างสรรค์หัวข้อการใช้สัญลักษณ์ @ และเครื่องหมายอื่นๆ บนโซเชียลมีเดียนานถึง 6 ปี โดยคอลเลคชั่นอิโมจินี้จะมีชื่อเรียกว่า ‘ พลังของการออกแบบ ’