ญี่ปุ่นเร่งส่งออกอาหาร
การส่งออกเครื่องยนต์ของรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญีปุ่นเริ่มซบเซา แต่ในอนาคตญี่ปุ่นจะเปลี่ยนมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารคุณภาพสูงแทน
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะต้องการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรให้ได้ถึง 1 ใน 3 ภายใน 3 ปีหน้าคือมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเยน (9,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีอาเบะจะตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น คือการผลักดันให้อาหารกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น
“ อิตาลีใช้วัฒนธรรมอาหารเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกอาหาร และฝรั่งเศสกำลังทำเหมือนกันกับไวน์ ” นายคัตสึโนริ นากาซาวา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงเกษตร กล่าว
“ ผมต้องการทำเช่นนี้กับอาหารของญี่ปุ่นเหมือนกัน ถ้าเกษตรกรของเราไม่ส่งสินค้าไปขายที่ต่างประเทศ อุตสาหกรรมการเกษตรจะไม่มีการขยายตัว ” เขาให้ความเห็น
โดยสูตรสำเร็จในการดำเนินการนั้นเรียบง่ายมาก คือ ระบบโลจิสติกส์ที่ดี การโฆษณาที่มีประสิทธิภาพและการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียด้วยการติดแท็ก #japanesefood และมีการล็อบบี้รัฐบาลต่างประเทศ
ทั้งนี้ การส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นต่อปีลดลง 6.9% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องกันถึง 12 เดือนแล้ว อ้างอิงจากการรายงานของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเหล็กล้วนลดลงหมด ในขณะที่การส่งออกอาหารปรับเพิ่มขึ้นถึง 7.6% จากปี 2558
ในปี 2558 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารทะเลของญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง 745,100 ล้านเยน (7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงเกษตร ซึ่งคิดเป็นเพียงแค่ 1% ของการส่งออกโดยรวมที่มีมูลค่าถึง 75.6 ล้านล้านเยน
โดยฮ่องกงเป็นจุดหมายอันดับ 1 ของการส่งออกอาหารของญี่ปุ่น และจะเป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของญี่ปุ่นในการเพิ่มมูลค่าการค้า ด้วยจำนวนประชากรเพียง 7 ล้านคน แต่ฮ่องกงบริโภคอาหารส่งออกจากญี่ปุ่นถึงเกือบ 25% และซูเปอร์มาร์เก็ตในฮ่องกงล้วนเต็มไปด้วยเนื้อวากิว เส้นโซบะ และหอยเชลล์จากญี่ปุ่น
“ ดิฉันเชื่อมั่นในอาหารญี่ปุ่น ” ผู้ให้สัมภาษณ์ชื่อวาเลอร์รีที่เป็นสตรีวัย 66 ปี กล่าวในซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นในฮ่องกง “ พวกเขาจะไม่ส่งออกสินค้าปลอม หรือมีอันตราย ”
สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของการส่งออกอาหารของญี่ปุ่น รองลงมาคือไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ อ้างอิงจากการรายงานของกระทรวงเกษตร โดยการบริโภคของลูกค้าจาก 5 ประเทศนี้คิดเป็น 70% ของปริมาณการส่งออกอาหารของญี่ปุ่นทั้งหมด
ปริมาณการส่งออกข้าวไปจีนกำลังขยายตัวรวดเร็วขึ้น ญี่ปุ่นจึงมีแผนเร่งรัดกระบวนการเพาะปลูกในประเทศให้รวดเร็วขึ้นเพื่อส่งออกไปจีนให้ได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นจะล็อบบี้ให้มาเลเซียอนุญาตให้มีการนำเข้าเนื้อวัว และได้ประกาศรับรองฮาลาล และรัฐบาลญี่ปุ่นยังต้องการขายข้าว ผลไม้และชาเขียวเพิ่มขึ้นให้กับไทยและเวียดนามด้วย.
หมายเหตุ 100 เยน = 33.98 บาท / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.14 บาท / 26 ต.ค. 2559