หัวเว่ยแซงซัมซุงขึ้นเบอร์ 1 ของโลก
หัวเว่ยกลายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกได้เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 อ้างอิงจากรายงานของ Canalys โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากจีน เนื่องจากธุรกิจระหว่างประเทศซบเซาลงเพราะถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร
โดยในจีน หัวเว่ยจัดส่งสมาร์ทโฟนให้ผู้ขายถึง 55.8 ล้านเครื่อง ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน อ้างอิงจากบริษัทวิจัย ขณะเดียวกัน ซัมซุงซึ่งอยู่ในอันดับ 2 มียอดจัดส่งสมาร์ทโฟน 53.7 ล้านเครื่อง ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
เป็นครั้งแรกที่แบรนด์สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยสามารถพุ่งทะยานขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้ทั้งไตรมาส เป็นความสำเร็จที่บริษัทต้องใช้ความพยายามมานานหลายปี
แต่นักวิเคราะห์ข้องใจว่านี่จะมีความยั่งยืนหรือไม่ เนื่องจากตลาดต่างประเทศของหัวเว่ยได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
โดยหัวเว่ยขายสมาร์ทโฟนได้กว่า 70% ในตลาดจีนในไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน การจัดส่งสมาร์ทโฟนในตลาดระหว่างประเทศลดฮวบลงถึง 27% ในไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อน
ในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ย ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 16% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับ 22% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จากข้อมูลของ Counterpoint Research โดยในยุโรป หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากซัมซุงและแอปเปิล แสดงให้เห็นชัดเจนว่า หัวเว่ยได้อานิสงส์จากยอดขายสมาร์ทโฟนที่เติบโตในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
“ จะเป็นเรื่องยากสำหรับหัวเว่ยที่จะคงสถานะผู้นำในระยะยาว” Mo Jia นักวิเคราะห์ที่ Canalys ระบุในการแถลงข่าว “ ความแข็งแกร่งเฉพาะในตลาดจีนแห่งเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้หัวเว่ยเป็นผู้นำได้อย่างยั่งยืนให้หัวเว่ยเป็นผู้นำ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ”
ในปีที่แล้ว หัวเว่ยถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ ห้ามไม่ให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีของอเมริกัน หมายความว่าหัวเว่ยไม่สามารถใช้กูเกิลแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟนเรือธงของบริษัทในรุ่นล่าสุดได้
สำหรับการใช้งานในจีน ซึ่ง Gmail หรือบริการของกูเกิลถูกบล็อก ไม่ใช่เรื่องใหญ่เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนไม่ได้ใช้งานอยู่แล้ว แต่สำหรับตลาดระหว่างประเทศ การไม่มีกูเกิลเป็นเรื่องเสียหายใหญ่หลวง
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคู่แข่งของหัวเว่ย ยังสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดที่เติบโต เช่นในตลาดยุโรป โดยเสียวหมี่ บริษัทสัญชาติจีนอีกแห่งมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปีก่อน จากเดิม 6% เป็น 13% ในไตรมาสเดียวกันของปีนี้ จากข้อมูลของ Counterpoint Research
หัวเว่ยถูกบีบให้ออกระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ชื่อ HarmonyOS ในปีที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์ได้แสดงความข้องใจก่อนหน้านี้ถึงความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ จากปัจจัยที่ว่าระบบปฏิบัติการนี้ขาดแอปพลิเคชั่นสำคัญจากแอปสโตร์
บริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมแห่งนี้ถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากสหรัฐฯในปีนี้ โดยเพิ่งมีกฎใหม่เมื่อเดือนพ.ค.ที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตต่างชาติที่ใช้ชิปของสหรัฐฯต้องได้ใบอนุญาตก่อนที่จะขายเซมิคอนดักเตอร์ให้หัวเว่ย
ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความสามารถของหัวเว่ยในกระบวนการผลิตชิปสมาร์ทโฟน โดยขณะที่หัวเว่ยออกแบบโปรเซสเซอร์เอง แต่ผลิตโดย TSMC ของไต้หวัน ซึ่งถูกกระทบจากกฎนี้