IMF เตือนหนี้จีนโตใกล้วิกฤติ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ว่าสภาวะหนี้ของจีนกำลังขยายตัวสูงจนเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติหนี้ครั้งใหญ่ในไม่ช้า
โดยทางไอเอ็มเอฟยังได้กล่าวว่า รัฐบาลจีนควรเริ่มปฏิรูป หรือแก้ไขความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤติหนี้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนอาจเพิ่มปัญหาให้กับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การออกมาเตือนของไอเอ็มเอฟเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากองค์กรเฝ้าระวังธนาคารกลางทั่วโลกรายงานว่า ภาคธนาคารของจีนอาจประสบกับวิกฤติหนี้อย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลว่า อาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก
โดยการอัพเดทแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก ทางไอเอ็มเอฟรายงานว่า จีนยังคงประสบกับความยุ่งยากที่จะปรับสมดุลเศรษฐกิจระหว่างการบริโภคและบริการ และยอมให้พลังตลาดมีบทบาทมากขึ้น
“ แต่เศรษฐกิจที่พึ่งพาสินเชื่อของจีนเพิ่มขึ้นจนถึงระดับอันตราย ทำให้เกิดความคลุมเครือไม่ชัดเจนและซับซ้อนในภาคธนาคาร ”
ทางไอเอ็มเอฟกล่าวว่า จีนควรควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อและงดให้การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีกำไรและยอมรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ มูลค่าหนี้โดยรวมของจีนสูงถึง 168.48 ล้านล้านหยวนเมื่อช่วงสิ้นปี 2558 คิดเป็น 249% ของตัวเลข
จีดีพีของประเทศ อ้างอิงจากการประเมินของบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นสำนักคิดชั้นนำของภาครัฐ
และในเดือนก.ย. ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ได้รายงานไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางว่า ปริมาณหนี้ของจีนทำสถิติสูงสุดในไตรมาสแรกของปี 2559 นี้ โดยตัวเลขสินเชื่อต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงถึง 30.1% ในไตรมาสเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าตัวเลข 10% ที่จัดว่ามีความเสี่ยงถึง 3 เท่า
จีนกำลังพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยให้พลังการใช้จ่ายเงินของประชากรเกือบ 1,400 ล้านคนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขยายตัว ทดแทนการลงทุนจำนวนมากจากรัฐบาลและการส่งออกสินค้าราคาถูก
แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขจีดีพีของจีนชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 25 ปี และยังมีสัญญาณชี้วัดว่าจะลดต่ำลงไปอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วย
ทางไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 6.6% ในปี 2559 ซึ่งเป็นตัวเลขเดิมกับที่เคยคาดการณ์ในเดือนก.ค. และจะลดลงไปอยู่ที่ 6.2% ในปี 2560 เนื่องจากขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม.