กำไรอุตสาหกรรมจีนพุ่งเร็วสุด ใน 3 ปี
ผลกำไรในอุตสาหกรรมจีนพุ่งขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 3 ปีเนื่องจากจีนแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ถึงแม้ภาคเอกชนจะคาดการณ์ว่า ตัวเลขที่สดใสนี้จะคงอยู่ได้ไม่นานก็ตาม
กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นถึง 19.5% จากปี 2558 มาอยู่ที่ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงจากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2556 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของจีนขยายตัว 6.9% ในปี 2558 นับเป็นตัวเลขที่ชะลอตัวที่สุดในรอบ 25 ปีจากดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา จากข้อมูลที่เป็นทางการในรอบหลายเดือนมานี้ โดยการใช้จ่ายภาครัฐจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอสังหาริมทรัพย์ที่บูมในเมืองใหญ่ของประเทศ กำลังเริ่มชี้ให้เห็นถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
โดย NBS รายงานว่าอุตสาหกรรมเหล็กและการกลั่นน้ำมันช่วยขับเคลื่อนผลกำไรในเดือนส.ค. โดยโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนภาควัสดุก่อสร้างและเศรษฐกิจโดยรวม
“ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาส 3 ขยายตัวเร็วกว่าทั้ง 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ ด้วยตัวเลข 6.7-6.8% ” อ้างอิงจากข้อมูลของนายเหลียวคุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารซิตี้แบงก์
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ว่า จีนจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 6.6%. ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมคือ 6.5% โดยได้ปัจจัยบวกจากงบประมาณและมาตรการกระตุ้นทางการเงิน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนแสดงความกังวลว่า การขยายตัวจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว
การปรับเพิ่มขึ้นของผลกำไรเกิดจากมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังบูม อ้างอิงจากนายโจว กงยิงนักวิเคราะห์ที่ Golden Sun Securities
“ ตัวเลขที่พุ่งพรวดยังไม่มีเสถียรภาพ การขยายตัวอาจจะต่ำมากในเดือนหน้า เรายังคงอยู่ในวงจรของการลดลงของศักยภาพ สภาพเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ”
รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากอุตสาหกรรมภาคยานยนต์ที่มียอดขายแข็งแกร่งถึงแม้ภาษีที่ลดให้รถยนต์ขนาดเล็กจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ก็ตาม
ผลกำไรของภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 14.1% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ผลกำไรของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ลดลงถึง 70.9% แม้ราคาถ่านหินและเหล็กจะสูงขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ จีนมีแผนจะลดกำลังการผลิตในภาคส่วนถ่านหินและเหล็ก และเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญใน 2 ทศวรรษ โดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอาจทำให้ต้องปลดคนงานมากถึง 1.8 ล้านคนในอุตสาหกรรมทั้งสองประเภท
“ อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงคือความอ่อนไหวของผู้บริโภคที่กำลังถูกสั่นคลอนจากการขยายตัวของรายได้ที่ลดลงและตลาดแรงงานอ่อนแรงจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ” อ้างอิงจาก ADB.