เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตสองเท่า แนวโน้มสดใส
การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าในไตรมาส 3 อ้างอิงจากข้อมูลที่ปรับแก้ไขเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. และมีแนวโน้มว่าการขยายตัวจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกที่เติบโต
โดยตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตต่อปีอยู่ที่ 2.5% ในไตรมาสเดือนก.ค.- ก.ย. สูงกว่าค่าประเมินเฉลี่ยคือ 1.5% ต่อปี และสูงกว่าค่าที่อ่านเบื้องต้นคือ 1.4% ต่อปี
ส่วนประกอบรายจ่ายลงทุนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมคือ 0.4% และสูงกว่าตัวเลขที่อ่านได้ในเบื้องต้นคือ 0.2%
เมื่อนำตัวเลขที่ได้มาแปลงเป็นการเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะอยู่ที่ 0.6% เทียบกับค่าที่อ่านได้เบื้องต้นคือ 0.3% และเทียบกับค่าประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4%
ตัวเลขที่ได้แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเวลาของการเติบโตที่ยาวนานที่สุดโดยไม่สะดุด นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเปรียบเทียบเป็นครั้งแรกในปี 2537
นี่ถือเป็นตัวเลขที่เป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมานานกว่า 4 ปี ตัวเลขที่ได้จึงถือเป็นผลส่วนหนึ่งที่เกิดจากนโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์ ’ ของเขา ทั้งการผ่อนคลายทางการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล และการปฏิรูปโครงสร้างถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาบูมอีกครั้ง และหนุนให้ราคาผู้บริโภคสูงขึ้น
การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพช่วยหนุนความหวังให้กับธนาคารกลางของญี่ปุ่น เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า และผลักดันให้ราคาผู้บริโภคเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้คือ 2% มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยอดส่งออกสุทธิขยายตัว 0.5% ในไตรมาส 3 ไม่เปลี่ยนแปลงจากค่าที่อ่านได้เบื้องต้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.5% ในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย.ไม่เปลี่ยนแปลงจากค่าที่อ่านได้เบื้องต้นเช่นกัน
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 7 ไตรมาสแล้ว นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า การเติบโตจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และการเติบโตของการส่งออกก็ยังมีแนวโน้มที่สดใสต่อไปเช่นกัน
ญี่ปุ่นต่อสู้กับภาวะเงินฝืด และเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัวมานานหลายปี หลังจากตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนเกิดภาวะฟองสบู่แตกในช่วงต้นทศวรรษปี 1990.