กว่า 400 แบรนด์ถอนโฆษณาจาก FB
นิวยอร์ก/ซานฟรานซิสโก (รอยเตอร์ ) – เมื่อวันที่ 1 ก.ค. สินค้ากว่า 400 แบรนด์ รวมทั้งแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างโค้กและสตาร์บัคส์ได้หายไปจากเฟซบุ๊ก หลังจากการเจรจาพูดคุยที่จะให้เฟซบุ๊กลบข้อความที่สร้างความเกลียดชังไม่เป็นผล
กลุ่มสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ล่ารายชื่อบริษัทหลากสัญชาติเพื่อร่วมช่วยกันกดดันยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียแห่งนี้ ให้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อสกัดข้อความสร้างความเกลียดชังในช่วงที่เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ และสถานการณ์รุนแรงด้านการเหยียดเชื้อชาติ
ผู้บริหารของเฟซบุ๊กทั้งแคโรลิน เอเวอร์สัน รองประธาน global business solutions และนีล พอตต์ส ผอ.นโยบายสาธารณะ จัดการประชุมอย่างน้อยสองครั้งกับบรรดาเอเจนซีที่ลงโฆษณาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนหน้าแผนบอยคอต 1 เดือน อ้างอิงจากสามแหล่งข่าวที่เข้าร่วมในการประชุม
แหล่งข่าวระบุว่า ข้อเสนอจากผู้บริหารไม่มีรายละเอียดเพิ่มว่าจะจัดการกับข้อความที่สร้างความเกลียดชังอย่างไร และยังชี้ถึงการแถลงข่าวในปัจจุบัน สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาเอเจนซีที่ลงโฆษณา ซึ่งเชื่อว่าแผนเหล่านั้นไม่ดีพอ “ ไม่มีอะไรใหม่เลย” ผู้บริหารรายหนึ่งของบริษัทเอเจนซีระบุ
อย่างไรก็ตาม มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กตกลงที่จะพบกับบรรดากลุ่มที่บอยคอต โฆษกกล่าวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.
การบอยคอตถือเป็นบททดสอบสำหรับเอเจนซีโฆษณาว่าจะรองรับลูกค้านับพันได้โดยไม่ต้องพึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดในโลกได้หรือไม่
สำหรับเฟซบุ๊ก การบอยคอตดูจะไม่มีผลกระทบทางการเงินกับบริษัทมากนัก โดย 100 แบรนด์ที่ใช้งบมากที่สุดบนเฟซบุ๊กในปี 2562 ทำรายได้ให้กับเฟซบุ๊กเพียง 6% จากรายได้ต่อปี 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากข้อมูลวิจัยของ Morningstar โดยเฟซบุ๊กระบุว่า ในปีที่แล้ว 100 แบรนด์ที่ลงโฆษณามากที่สุดทำรายได้ให้เฟซบุ๊กน้อยกว่า 20% ของรายได้รวมทั้งปี
ข่าวการบอยคอต ทำให้มูลค่าเฟซบุ๊กในตลาดหายไป 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากหุ้นตกลง 8% ในวันที่ 26 มิ.ย. แต่ฟื้นขึ้นมา 3% ในวันที่ 30 มิ.ย. และมีการซื้อขายมากขึ้น 8% ในวันที่ 1 ก.ค.
เมื่อสัปดาห์ก่อน เชอริล แซนด์เบิร์ก ประธานฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊กถูกขอให้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มผู้ก่อตั้งแคมเปญบอยคอต รวมถึงคริส ค็อกซ์ ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับซัคเคอร์เบิร์กมานาน และกลับมาที่บริษัทในเดือนนี้อีกครั้ง หลังจากโบกมือลาออกจากการบริหารบริษัทไปในปีที่แล้ว
กลุ่มสิทธิพลเมืองย้ำว่า ซัคเตคอร์เบิร์กจะร่วมโต๊ะเจรจาด้วย โดยโจนาธาน กรีนแบลตต์ ซีอีโอของ Anti-defamation League ระบุว่า ในฐานะที่ซัคเคอร์เบิร์กเป็นซีอีโอ ประธาน และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊ก “ เขามีอำนาจสูงสุด”
ทั้งนี้ โฆษกเฟซบุ๊กระบุเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ว่า บริษัทยืนยันว่าซัคเคอร์เบิร์กจะเข้าร่วมประชุมด้วย “ เรากำลังรอที่จะรับฟังและหวังว่าจะมีโอกาสอย่างต่อเนื่องจากการเจรจา ” เธอกล่าว