เศรษฐกิจไต้หวันยังแกร่งหลังวิกฤตไวรัส
สภาพเศรษฐกิจไต้หวันแข็งแกร่งกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย เนื่องจากได้อานิสงส์จากความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด -19 จากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักวิจัย Capital Economics
แม้จะมีความใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันรายงานจำนวนผู้ป่วยจากโควิด-19 เพียง 447 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7 รายจากประชากรทั้งหมด 24 ล้านคน ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสได้รับการยกย่องจากทั่วโลก เนื่องจากไต้หวันมียุทธศาสตร์ที่ดีในการตรวจทดสอบไวรัสและปิดพรมแดนอย่างรวดเร็ว
โดยข้อมูลล่าสุดของ Capital Economics เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ชี้ว่า เศรษฐกิจไต้หวันแข็งแกร่งมาก โดยการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้จะยังต่ำกว่าตัวเลขการเติบโต 4.2% ต่อปีในเดือนเม.ย.ก็ตาม “ ไต้หวันยังคงแข็งแกร่งกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมาก” แกเร็ธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์เอเชียระบุในรายงาน
ขณะที่ประเทศอื่นอย่างเกาหลีใต้และสิงคโปร์ มีตัวเลขการเติบโตติดลบในส่วนการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมในเดือนพ.ค.
“ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวเลขแข็งแกร่งคือ ไต้หวันไม่เคยล็อกดาวน์เศรษฐกิจ โรงงานผลิตยังเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ” เลเธอร์ระบุ โดยทาง Capital Economics คาดการณ์ว่า จีดีพีของไต้หวันในปี 2563 นี้จะปรับลดลง 2% โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา จีดีพีไต้หวันเติบโต 2.7%
“อีกปัจจัยสำคัญคือดีมานด์ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแรง ซึ่งเราคิดว่าได้แรงหนุนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G และดีมานด์ด้านอุปกรณ์การทำงานในบ้าน ” เลเธอร์เสริม “ ขณะที่แรงหนุนจะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่ได้ทำให้ไต้หวันก้าวข้ามสถานการณ์ขาลงที่ทั่วโลกกำลังประสบได้อย่างดี ”
แม้จะมีปัจจัยหนุน แต่เศรษฐกิจไต้หวันยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกและดีมานด์ภายนอก และการเติบโตจะถูกกระทบในปีนี้จากการค้าและการท่องเที่ยว นิค มาร์โร ผู้เชี่ยวชาญการค้าทั่วโลกประจำ Economics Intelligence Unit ระบุ
โดยมาร์โรระบุว่า แผนนโยบายปฏิบัติการของไต้หวันในปี 2562 เพื่อช่วยบริษัทผู้ผลิตไต้หวันให้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับมาที่ไต้หวัน “ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในไต้หวัน” ซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีแนวโน้มจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มาร์โรระบุว่า ยังคงมีความเสี่ยง เนื่องจากความตึงเครียดด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯยังคงมีอยู่ โดยไต้หวันเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ด้านชิ้นส่วนเอเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับทั้งบริษัทจีนและสหรัฐฯ
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันคือ TSMC ถูกบีบให้ต้องเลือกข้างเมื่อสหรัฐฯห้ามขายชิปให้บริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีน
ที่ผ่านมา จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยปกครองไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม การอ้างสิทธิทางการเมืองเหนือไต้หวันของจีนหมายความว่าธุรกิจไต้หวันมีสิทธิพิเศษในการเข้าถึงจีน ซึ่งบริษัทต่างชาติไม่มี เนื่องจากจีนพยายามพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯและการนำเข้าให้น้อยลง ซึ่งจะเป็นการช่วยหนุนการส่งออกของไต้หวัน
“ นี่กำลังเป็นการพัวพันกับการปฏิบัติตามระบอบการปกครองของจีน และระบอบการปกครองของสหรัฐฯ” เขาเสริม
“ สถานการณ์ที่กระอักกระอ่วนนี้เป็นบางอย่างที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นดิสรัปชั่นระยะสั้น (ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้ว) และผมขอแนะนำว่าความเสี่ยงนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ”