แนะเลื่อนเกษียณเป็น 69 ปีในเยอรมนี
ธนาคารกลางแห่งเยอรมนีให้เหตุผลสนับสนุนเลื่อนการเกษียณอายุในการทำงานออกไปอีก 2 ปีเป็น 69 ปี แต่ข้อเสนอนี้ดูจะไม่ได้รับการขานรับจากรัฐบาลเยอรมนี
รัฐบาลพิจารณาตัดสินใจเลื่อนการเกษียณอายุในการทำงานของประชาชนในประเทศจาก 65 ปีเป็น 67 ปีเมื่อทศวรรษที่แล้ว โดยการเลื่อนอายุเกษียณจะค่อยๆมีผลบังคับใช้ไปเรื่อยๆจนครอบคลุมทั้งหมดภายในปี 2572
นับตั้งแต่นั้นมา มีการเรียกร้องให้ประชาชนในเยอรมนีสามารถทำงานได้นานขึ้นกว่าเดิมอยู่บ่อยครั้ง โดยในรายงานประจำเดือนของธนาคารกลางเยอรมนีเสนอแนะว่า ควรมีการพิจารณาเรื่องการเลื่อนอายุเกษียณของประชาชนให้เป็น 69 ปีภายในปี 2603 เพื่อให้แน่ใจว่าระบบการจ่ายเงินบำนาญจะสอดคล้องกับอายุของประชากรในประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายสเตฟเฟน ไซเบิร์ท โฆษกของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กล่าวว่า รับบาลยังคงยืนยันการเกษียณอายุที่ 67 ปี
โดยธนาคารกลางรายงานว่า จากแนวโน้มสถิติประชากรชี้ว่า อายุเฉลี่ยของสังคมชาวเยอรมันมีแต่จะสูงขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับระบบการจ่ายเงินบำนาญ และรัฐบาลควรมีการพิจารณาที่จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
“เพื่อให้แผนการจ่ายเงินบำนาญสะท้อนแนวโน้มในระยะยาว ภาครัฐควรมีแผนที่ครอบคลุมไปถึงปี 2573 ” อ้างอิงจากรายงานของธนาคารกลาง
ธนาคารกลางเชื่อว่า จากปี 2593 เป็นต้นไป การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ จะส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการกับเงินบำนาญของรัฐได้ตามเป้าคืออย่างน้อย 43% ของรายได้เฉลี่ย
“รัฐบาลควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสถานะทางการคลังให้ยั่งยืน (ในระบบการจ่ายเงินบำนาญ)” อ้างอิงจากรายงานของธนาคาร
ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆในยุโรปกำลังพยายามที่จะเลื่อนการเกษียณอายุในการทำงานออกไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาอายุประชากรที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
โดยในฝรั่งเศส เพิ่งมีการเลื่อนการเกษียณอายุจากเดิม 60 ปี เป็น 62 ปี สำหรับประชาชนคนทำงานที่จ่ายเบี้ยประกันสังคมมาตลอดอายุการทำงาน แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายนี้ ให้เลื่อนเกษียณอายุเป็น 67 ปี ในอิตาลี ซึ่งกำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงมาก ก็ค่อยๆเลื่อนการเกษียณอายุของทั้งชายและหญิงออกไปเป็น 66 ปี ภายในปี 2561
นายสเตฟเฟน ไซเบิร์ท โฆษกของรัฐบาลเยอรมนี กล่าวว่า “ การเกษียณอายุที่ 67 ปีเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับการพัฒนาด้านประชากรในเยอรมนี ซึ่งเราจะทำให้ลุล่วงสำเร็จไปทีละขั้น ”