นายกฯ เยอรมนีหนุนจ้างงานผู้ลี้ภัย
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีได้เชิญผู้บริหารของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในเยอรมนีให้เข้าร่วมประชุมในเดือนก.ย.
โดยผู้นำของประเทศต้องการกระตุ้นให้บริษัทเหล่านี้มีการจ้างงานผู้ลี้ภัยมากขึ้น อ้างอิงจากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บิลด์เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา
ในปี 2558 มีผู้อพอพหลั่งไหลเข้ามาในเยอรมนีมากกว่า 1 ล้านคน และรัฐบาลเยอรมนีต้องการให้ผู้อพยพเหล่านี้เข้ามาในตลาดแรงงานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ และทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเยอรมนี ที่แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดยนายกฯ แมร์เคิลจะผลักดันให้บริษัทในประเทศที่ยังลังเลใจให้โอกาสในการฝึกงานและตำแหน่งงานแก่ผู้ลี้ภัย อ้างอิงจากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บิลด์ ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ถูกวิจารณ์ว่า ให้ความร่วมมือกับภาครัฐน้อยเกินไปในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้เข้ามาทำงานในตลาดงานที่รุ่งเรือง
หลายบริษัทกล่าวว่า ผู้อพยพที่เพิ่งเข้ามาส่วนใหญ่ขาดทักษะภาษาเยอรมันและการศึกษาที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ต้องการ
ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรมอย่าง Siemens (SIEGn.DE), กลุ่มบริษัทเคมีภัณฑ์ Evonik (EVKn.DE), บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Opel (GM.N) และ VW (VOWG_p.DE) และสาธารณูปโภค RWE(RWEG.DE) จะพูดคุยปรึกษากับนายกฯ แมร์เคิลถึงผลลัพธ์ของโครงการตัวอย่างที่เกี่ยวกับการจ้างงานผู้ลี้ภัย
สำนักนายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บิลด์ ที่อ้างว่าจะมีการประชุมระหว่างกลุ่มผู้บริหารกับนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ย.นี้
หนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine Zeitung รายงานข่าวเมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมาว่า จนถึงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา 30 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในรายชื่อของภาครัฐมีการจ้างงานผู้ลี้ภัยเพียง 54 คนเท่านั้น โดย 50 คนถูกจ้างโดยบริษัทโลจิสติกส์ Deutsche Post DPWG.DE.
เมื่อเดือนก.ค.รองนายกรัฐมนตรีซิกมา เกเบรียลได้กระตุ้นให้บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทมีการจ้างงานผู้ลี้ภัยมากขึ้น โดยมีการเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป
ทั้งนี้ มีจำนวนผู้อพยพไหลทะลักเข้ามาในเยอรมนีมากกว่า 1.1 ล้านคนในปี 2558 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากสงครามความขัดแย้งในซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก