โควิด-19 ทำคนจนหนัก 1.1 พันล้านคนทั่วโลก
ลอนดอน : เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. กลุ่มนักวิจัยระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่า เศรษฐกิจที่ตกต่ำจากโรคระบาดโควิด -19 อาจส่งผลทำให้มีอีก 395 ล้านคนต้องกลายเป็นคนยากจนข้นแค้น และทำให้มีผู้ที่ใช้ชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 59.09 บาท ) ต่อวันทั่วโลกมีมากกว่า 1,000 ล้านคน
โดยรายงานที่เผยแพร่โดย UNU-WIDER ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ United Nations University ที่รวบรวมและจัดทำผ่านสถานการณ์จำนวนมาก และเปรียบเทียบจากเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจนของธนาคารโลก จากที่ยากจนที่สุดคือมีค่าครองชีพ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันหรือน้อยกว่านั้น ไปถึงเส้นแบ่งความยากจนในระดับสูงกว่าคือน้อยกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 171 บาท ) ต่อวัน
ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือเมื่อรายได้ต่อหัวประชากร หรือการบริโภคหดตัวลงถึง 20% จะทำให้จำนวนคนที่ยากจนที่สุดอาจเพิ่มเป็น 1,120 ล้านคนทั่วโลก
การหดตัวแบบเดียวกันด้วยเกณฑ์ 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศรายได้ระดับกลางค่อนข้างสูงอาจทำให้ประชากรกว่า 3,700 ล้านคน หรือเกินกว่าครึ่งของประชากรทั่วโลก ใช้ชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
“ แนวโน้มสำหรับกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลกดูจะมืดมน นอกจากรัฐบาลจะลงมือทำมากกว่านี้ และทำอย่างรวดเร็ว และแก้ไขปัญหาการสูญเสียรายได้รายวันที่คนยากจนต้องเจอ” แอนดี ซัมเมอร์ หนึ่งในผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุ “ ผลของความก้าวหน้าในการลดความยากจนอาจล้มเหลว 20 – 30 ปี และทำให้เป้าหมายของสหประชาชาติในการขจัดความยากจนดูจะเป็นเพียงความฝัน”
นักวิจัยจาก King’s College London และ Australian National University ยังพบว่า ความยากจนอาจเปลี่ยนไปตามการกระจายตัวตามเขตภูมิศาสตร์
โดยภูมิภาคที่คาดการณ์ว่าจะมีประชากรจำนวนมากที่มีความเสี่ยงจะจมดิ่งสู่ความยากจนข้นแค้นที่สุดคือเอเชียใต้ โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนประชากรมากอย่างอินเดีย รองลงมาคือประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ธนาคารโลกประกาศว่า คาดการณ์ว่าประชากร 70 – 100 ล้านคนทั่วโลกจะถูกบีบให้กลายเป็นคนยากจนข้นแค้นจากโรคระบาดโควิด -19