ประท้วงทั่วโลก กังวลโควิด-19 ระบาดซ้ำ
วอชิงตัน – การประท้วงต่อต้านความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดเชื้อชาติยังคงดำเนินต่อไปในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังกระจายไปทั่วโลก แม้จะมีความกังวลเรื่องการระบาดระลอกสองของโควิด -19 ก็ตาม
เหตุการณ์ความไม่สงบและบางครั้งมีการปะทะอย่างรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ อาจส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพ.ย.นี้ และดับความหวังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 นอกจากนี้ ยังทำลายจุดยืนของอเมริกาในโลกอีกด้วย
ผู้ชุมนุมหลายพันคนเดินขบวนในกรุงลอนดอน เบอร์ลิน วอร์ซอว์ บริสเบน รวมทั้งในกรุงโตเกียวและกรุงโซลเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันกับชาวอเมริกันในสหรัฐฯ ขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในประเทศของตัวเอง
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดแห่งแคนาดา ซึ่งคุกเข่าเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพกับผู้ประท้วงในกรุงออตตาวายอมรับประเด็นการเหยียดเชื้อชาติของตำรวจแคนาดาที่มีกับชนกลุ่มน้อย
“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นชาวแคนาดาจำนวนมากที่ตื่นรู้กับความจริงที่ว่า มีการเหยียดเชื้อชาติในความเป็นจริงกับพลเมืองจำนวนมากของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องยุติ ”
การประท้วงในสหรัฐฯเกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตในวันที่ 25 พ.ค.ของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวสีที่ถูกตำรวจผิวขาวจับกุมตัวและกระทำเกินกว่าเหตุด้วยการกดเข่าที่บริเวณลำคอของนานเกือบ 9 นาที โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ค. เจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตันดีซีและเมืองอื่นๆเตรียมพร้อมรับมือกับการเดินขบวนครั้งใหญ่ ด้วยการใช้กำลังตำรวจเข้าประจำการและปิดถนนเนื่องจากคาดว่าจะมีคนจำนวนมาก
การประท้วงทั่วสหรัฐฯยังคงดำเนินไปอย่างสันติในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ภาพที่ถ่ายทอดสดออกไปที่มีแต่ภาพความรุนแรงของตำรวจที่กระทำกับผู้ประท้วงจุดชนวนให้เกิดความโกรธเคืองไปทั่วประเทศ มีการเรียกร้องภาะรับผิดชอบที่มากขึ้นและทบทวนพิจารณาการใช้กำลังอาวุธของตำรวจ
การชุมนุมกันของผู้ประท้วงก่อให้เกิดความกังวลว่าไวรัสโคโรนาอาจระบาดซ้ำเป็นระลอกสอง ในสหราชอาณาจักร Priti Patel รมว.มหาดไทยขอร้องให้ประชาชนอย่ามาร่วมการประท้วงด้วยเหตุผลของโรคระบาด ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าประเทศอื่นนอกสหรัฐฯ
“ ดิฉันเข้าใจดีถึงมุมมองและความปรารถนาเพื่อสิทธิในการประท้วง แต่… เราอยู่ในภาวะโรคระบาด ” เธอกล่าว แต่ผู้ประท้วงเมินคำแนะนำของเธอ ขณะที่กรุงปารีสในฝรั่งเศส ตำรวจห้ามการชุมนุมตามแผนในวันที่ 7 พ.ค. โดยชี้ถึงความกังวลเรื่องระเบียบสังคมและอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โดยก่อนหน้านี้ WHO ระบุว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุน หรือคัดค้านประโยชน์ของการสวมหน้ากากอนามัยในกลุ่มประชาชน แม้หลายประเทศจะกำหนดให้มีการสวมหน้ากาอนามัยนานหลายเดือนแล้วก็ตาม
“ จากหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น WHO ขอแนะนำให้รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนสวมหน้ากากในสถานที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดและการเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้ยาก เช่น ขนส่งสาธารณะ ในร้านค้า หรือในสถานที่ซึ่งมีคนหนาแน่น ” ผอ.เทดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุสของ WHO ระบุในถ้อยแถลง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สามารถลดความเสี่ยงการระบาดของไวรัสในการเดินขบวนได้ หากผู้ประท้วงสวมหน้ากากอนามัยและอยู่กลางแจ้งและมีการขยับเคลื่อนไหว แต่กังวลว่าการรวมกลุ่มกันร้องตะโกนคำขวัญและการปะทะกับตำรวจอาจเพิ่มความเสี่ยงการแพร่เชื้อ ซึ่งรวมถึงการใช้แก๊สน้ำตา ที่ทำให้คนไอ ต้องเอาหน้ากากออก และการกักตัวผู้ชุมนุมไว้ในสถานที่เดียวกัน.