จีดีพียูโรโซนปรับลดลง
ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนปรับลดลงถึงครึ่งหนึ่งในไตรมาส 2 แต่ 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันต่างหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด
จีดีพีของยูโรโซนเติบโตขึ้น 0.3% ในไตรมาสเดือนเม.ย.-มิ.ย. ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์แต่ต่ำกว่า 0.6% ในไตรมาสแรก
โดยฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน ยังไม่เห็นสัญญาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากเติบโต 0.7% ในไตรมาสแรก
ทั้งนี้ เงินเฟ้อในยูโรโซนปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในเดือนมิ.ย.เป็น 0.2% ในเดือนก.ค.จากราคาที่สูงขึ้น ทั้งอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ
ในข้อมูลยังเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของยูโรโซนยังคงอยู่ที่ 10.1% ในเดือนมิ.ย.
ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนี้นับเป็นการเผยแพร่ครั้งแรกหลังจากผลการลงประชามติที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
นายปีเตอร์ แวนเดน ฮูท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไอเอ็นจีกล่าวว่า “ข่าวดีคือเศรษฐกิจยังคงมีโมเมนตัมอยู่ แต่ยังมีการคาดการณ์ในเชิงลบตลอดเวลาที่ผลกระทบจากเบร็กซิทยังคงสร้างความไม่มั่นคงมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอกประเทศ”
ทั้งนี้ ทั่วทั้งสหภาพยุโรป จีดีพีลดลงจาก 0.5% ในไตรมาสแรกมาอยู่ที่ 0.4% ในไตรมาสเดือนมิ.ย.
ในฝรั่งเศส การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ได้แรงหนุนสำคัญจากการที่แฟนบอลทั่วยุโรปจองห้องพักและซื้อตั๋วเพื่อไปชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2559 ในปีนี้
แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในไตรมาสเดือนเม.ย.-มิ.ย.จากปัจจัยเสี่ยงที่รบกวนตลอดการแข่งขันฟุตบอลยูโร และหลังจากการปรับลดลงในการใช้จ่ายทางอาหาร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสกล่าวว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่เผยมาค่อนข้างน่าผิดหวัง อย่างไรก็ตาม ยังมีการคาดการณ์ว่าจีดีพีของยูโรโซนจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5% สำหรับทั้งปีนี้
นายฟิลลิป แวคเตอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารเนทิซิสยังแสดงความกังขาเกี่ยวกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจนี้ โดยเขากล่าวว่า “จะมีปัจจัยบวกใดที่จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจดีดกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม และขับเคลื่อนให้เราเติบโตไปถึงเป้าหมายจีดีพี 1.5% ตามที่ทางรัฐบาลสัญญาได้?“