ซอฟท์แบงค์ซื้อผู้ผลิตชิปส์ ARM
บริษัทซอฟท์แบงค์ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่นตกลงซื้อบริษัทเออาร์เอ็ม โฮลดิ้งส์
ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของอังกฤษในการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์รองรับลูกค้าสำคัญอย่างไอโฟนของแอปเปิ้ล โดยดีลธุรกิจครั้งนี้มีมูลค่าสูงกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงจากคำประกาศของบริษัทเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา
ARM เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าในตลาดสูงสุดของอังกฤษ โดยเป็นผู้ผลิตชิปส์รายใหญ่สำหรับโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีการผลิตและออกแบบที่ล้ำหน้าของ ARM ได้ถูกนำไปใช้ในหลายบริษัท เช่น ซัมซุง หัวเว่ย ในขณะเดียวกัน ARM ก็ผลิตไมโครชิปส์โดยตรงให้กับไอโฟนของแอปเปิ้ลเป็นหลัก
ทั้งนี้ ส่วนประกอบของชิปส์ที่เป็นเทคโนโลยีต้นแบบซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ ARM ถูกซื้อเพื่อนำไปผลิตใช้กันอย่างแพร่หลายในสมาร์ทโฟนแบรนด์ชั้นนำของโลก
นายมาซาโยชิ ซัน ประธานและซีอีโอ ของบริษัทซอฟท์แบงค์ของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์สื่อในอังกฤษเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ว่า “ นี่เป็นบริษัทที่ผมต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของซอฟท์แบงค์ ผมมีความสุขมาก ”
การเข้าซื้อ ARM ของยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติญี่ปุ่นอย่างซอฟท์แบงค์ เป็นหนึ่งในการเทคโอเวอร์ธุรกิจทางเทคโนโลยีของยุโรปที่ใหญ่ที่สุด โดยบริษัท ARM ตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ ทางเหนือของกรุงลอนดอนในอังกฤษ และมีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 4,000 คน
การตกลงธุรกิจครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากสหราชอาณาจักรมีการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเชื่อกันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีในสหราชอาณาจักร แต่ลูกค้าพื้นฐานของ ARM มีอยู่ทั่วโลกและยังไม่ได้รับผลกระทบจากเบร็กซิท
โดยทางซอฟท์แบงค์มีแผนที่จะคงสถานะดั้งเดิมของบริษัทเออาร์เอ็มไว้ รวมถึงทีมบริหารจัดการอาวุโสแบรนด์และวัฒนธรรมขององค์กร สำนักงานใหญ่ของเออาร์เอ็มจะยังคงอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ต่อไป ขณะที่ทางซอฟท์แบงค์วางแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงานเป็นสองเท่าในอีก 5 ปีต่อจากนี้ โดยดีลการซื้อขายครั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของเออาร์เอ็ม
ทั้งนี้ นายมาซาโยชิ ซัน ยืนยันว่า การซื้อขายครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงต่อเงินเยนของญี่ปุ่น และยอมรับว่าเขาเพิ่งพบกับประธานของเออาร์เอ็มเพียงสองสัปดาห์ก่อนทำข้อตกลงทางธุรกิจ ทางซีอีโอของซอฟท์แบงค์ยังกล่าวว่า เขาต้องการเพิ่มจำนวนพนักงานของเออาร์เอ็มในสหราชอาณาจักรเป็นสองเท่าภายใน 5 ปี ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ทางศาลสามารถบังคับได้ทางกฎหมาย หากบริษัททำไม่ได้ตามที่สัญญาไว้
ทางซอฟท์แบงค์เอง ไม่ใช่กลุ่มทุนหน้าใหม่ในการลงทุนขนาดใหญ่ โดยในหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างบริษัทให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต โดยบริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสมาร์ทโฟนของสหรัฐอเมริกาคือ สปรินท์และเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่างยาฮูในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของจีนอย่างอาลีบาบาในปี 2543 และยังมีส่วนในการระดมทุนมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของแอพพลิเคชั่นให้บริการแท็กซี่ชั้นนำในจีนอย่างติตี้ ฉู่ชิง
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.08 บาท / 19 ก.ค.2559