เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ดีกว่าคาด
เศรษฐกิจของจีนขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลและธนาคารกลางที่ช่วยค้ำจุนอุปสงค์ให้มีเสถียรภาพ
โดยก่อนหน้านี้ โพลล์จากนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีตัวเลขการขยายตัวอยู่ที่ 6.6%
ทั้งนี้ ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังคงที่เป็นตัวเลขเดียวกับไตรมาสก่อนหน้านี้คือ 6.7%แต่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีปรับเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกอ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนรูปแบบจากการพึ่งพาการผลิตมาเป็นพึ่งพาการบริโภคอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร โดยในปี 2558 ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 6.9% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 25 ปี
นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า เศรษฐกิจของจีนยังคงมีเสถียรภาพในขั้นพื้นฐาน ตามหลังความคิดเห็นที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคงตัวเลขให้ได้ 6.7% เท่ากับในไตรมาสแรกและเศรษฐกิจจะชี้ให้เห็นถึง การพัฒนาที่มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ในช่วงครึ่งปีแรก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีการขยายตัวถึง 9% จากเมื่อปีที่แล้ว แต่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน ลดลงจาก 3.9% ในช่วง 5 เดือนแรก ส่งสัญญาณถึงแรงต้านจากการส่งออกที่ชะลอตัวและเศรษฐกิจมหภาคที่สั่นคลอน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจดูจะดำเนินไปได้ด้วยดี จากตัวเลขการขยายตัวในหลายภาคส่วน อ้างอิงจากความเห็นของนายจาฮานเกอร์ เอซิส หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำประเทศเศรษฐกิจใหม่จากบริษัทเจพี มอร์แกน
โดยนายเอซิสให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “ เรายังเห็นอีกว่าในสองไตรมาสแรกของปีนี้ มีการปรับโครงสร้างในบางอุตสาหกรรมจากกำลังการผลิตที่เหลือใช้ เช่น ปูนซีเมนต์ แร่เหล็กและถ่านหิน”
ธนาคารกลางของจีนได้ปรับลดเงื่อนไขของธนาคารลง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ
จากการจำแนกตัวเลขเป็นประเภท จะเห็นว่าตัวเลขผลผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 10.6%
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ในวันที่ 15 ก.ค.นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่จีนปรับระเบียบวิธีทำวิจัยในการรวบรวมข้อมูล โดยเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนา ( R&D) เข้ามาในการคำนวณหาตัวเลขจีดีพี เมื่อต้นเดือนนี้ การปรับเปลี่ยนนี้จะช่วยให้การคำนวณของจีนในมูลค่าของสินค้าและบริการมีมาตรฐานเดียวกับองค์การสหประชาชาติและองค์การระดับโลกอื่นๆ