ศก.ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยลงในไตรมาสแรกของปีนี้จากโรคระบาดโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับการส่งออก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค และมีความกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายกว่านี้ในอนาคต
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. สำนักคณะรัฐมนตรีรายงานว่า จีดีพีของประเทศญี่ปุ่นถดถอยลง 3.4% ในไตรมาสเดือนม.ค.- มี.ค. ตัวเลขการเติบโตรายปีจะเป็นตัวบ่งชี้อัตราการเติบโตตลอดทั้งปี และเมื่อคิดเป็นต่อไตรมาส จัดว่าเศรษฐกิจถดถอยลง 0.9%
โดยการส่งออกของญี่ปุ่นดิ่งฮวบลง 21.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงเกือบ 17% และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับลดลง 3.1%
นักวิเคราะห์ระบุว่า คาดการณ์ว่าสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงอีกในอนาคต ญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกกำลังประสบกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในทางเทคนิค เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงสองไตรมาสต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจหดตัวลง 1.9% ในไตรมาสเดือนต.ค. – ธ.ค. ของปีที่แล้ว เศรษฐกิจไม่ขยับในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. และปรับขึ้นเล็กน้อย 0.5% ในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย. จากตัวเลขล่าสุด
เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกับการค้าทัั้งกับจีนและสหรัฐฯ โดยจีนเป็นประเทศที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้นเป็นประเทศแรก ขณะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้มากที่สุดในโลก
การเดินทาง การท่องเที่ยวและการค้า กับประเทศเหล่านี้ และประเทศอื่นๆ หยุดชะงักท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส
บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างโยต้ามอเตอร์ รายงานผลกระทบทางด้านการเงินที่น่ากังวล หลายบริษัทไม่สามารถคาดการณ์ได้สำหรับปีงบประมาณนี้ ผลกำไรลดลงเนื่องจากประชาชนประหยัดการใช้จ่ายและอยู่บ้าน การผลิตที่หลายโรงงานต้องระงับ
รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเกือบ 108 ล้านล้านเยน ( 32 ล้านล้านบาท ) และมีแผนจะกระตุ้นเพิ่มอีก ทั้งความช่วยเหลือกับธุรกิจขนาดเล็ก และการแจกเงินเยียวยาเป็นเงินสด
มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 16,000 รายในญี่ปุ่น และมีผู้เสียชีวิตกว่า 700 ราย แต่จำนวนนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และหลายเมืองมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
ในสัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ส่วนใหญ่ คือ 39 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัด ขณะที่สถานประกอบธุรกิจจำนวนมากเริ่มเปิดทำการ แต่คาดการณ์ว่าการบริโภคจะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้
โรเบิร์ต คาร์เนล หัวหน้าภาควิจัยเอเชีย-แปซิฟิกที่ ING ระบุว่า ความเสียหายที่มีกับภาคเอกชนยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ดีมานด์ของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาล
“ แม้ภาวะฉุกเฉินจะถูกวิจารณ์เนื่องจากเป็นการรับมือกับโรคระบาดอย่างไม่เต็มรูปแบบ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และมีผลกับการเติบโต” เขาระบุ