ญี่ปุ่นควรยกเครื่องนโยบายเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟแนะนำว่า ญี่ปุ่นควรยกเครื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ
ด้วยการเพิ่มเติมมาตรการเพิ่อผลักดันให้รายได้เพิ่มขึ้น และปฏิรูปแรงงานให้สำเร็จลุล่วงเพื่อให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้า
นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เข้ารับตำแหน่งในปลายปี 2555 เขาได้ให้คำมั่นที่จะเริ่มใช้นโยบายอาเบะโนมิคส์ ซึ่งเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจของเขาในการขับเคลื่อนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเป็นการผสมผสานระหว่างการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล และความพยายามที่จะฉีกกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด
การดำเนินงานตามแผนอย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือ การอ่อนค่าเงินเยน ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของญี่ปุ่น และทำให้ตลาดหุ้นคึกคัก แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจตามสัญญากลับเป็นไปอย่างช้าๆ สร้างความสงสัยแคลงใจถึงกรอบแห่งความสำเร็จ
โดยทางไอเอ็มเอฟกล่าวในรายงานที่การประชุมประจำปีในกรุงโตเกียวว่า “อาเบะโนมิคส์มีความก้าวหน้าในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่การคงตัวเลขการขยายตัวและเงินเฟ้อยังคงไม่เห็นผล”
ทางไอเอ็มเอฟเสริมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และยกระดับความร่วมมือในเชิงนโยบาย การส่งเสริมรายได้และปฏิรูปแรงงานเป็นสิ่งจำเป็น
ในรายงานกล่าวว่า “อาเบะโนมิคส์ควรมีมาตรการเพิ่มเติม” โดยเสริมว่า นโยบายการเงินและการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้รัฐบาลเข้าใกล้ตัวเลขเงินเฟ้อ 2% ตามเป้าได้
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันให้บริษัทใหญ่ๆ ปรับขึ้นค่าแรงให้พนักงาน แต่บริษัทโตโยต้าปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพียง 1,500 เยนต่อเดือนเท่านั้นทั้งที่บริษัทมีกำไร ขณะเดียวกัน ทางฮอนด้าปรับขึ้นให้ 1,100 เยนต่อเดือน และนิสสันปรับเพิ่มให้ 3,000 เยน
ทั้งนี้ ทางไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้รัฐบาลกำกับดูแลให้บริษัทที่มีกำไรปรับขึ้นค่าแรงขั้นพื้นฐานให้กับพนักงานในอัตราอย่างน้อย 3% และลดช่องว่างระหว่างพนักงานประจำและพนักงานสัญญาจ้างที่มักจะได้ผลประโยชน์ไม่ครบถ้วน
โดยในรายงานยังกล่าวว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องค่อยๆ ปรับขึ้นภาษีบริโภคให้ได้อย่างน้อย 15% เพื่อคงเสถียรภาพทางการคลังและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า เขาตัดสินใจเลื่อนกำหนดการปรับขึ้นภาษีบริโภคออกไป จากเดิมคือปี 2560 เป็นปลายปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว
การตัดสินใจครั้งนี้ของนายกฯ อาเบะ จุดชนวนความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของญี่ปุ่นในการจัดการกับหนี้ของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว.