ร.ร.กีฬาในจีนซบเซา
นักกีฬาของจีนเปล่งประกายความสามารถอันโดดเด่นมานานหลายปีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค
โดยในปี 2551 ที่จีนเป็นเจ้าภาพจีนสามารถกวาดเหรียญทองไปครองได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าในโอลิมปิคที่กรุงลอนดอนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จีนจะถูกสหรัฐอเมริกาเบียดแซงขึ้นเป็นเจ้าเหรียญทองแทนก็ตาม
แต่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงริโอ เดอ จาเนโรที่บราซิลในปีนี้ ดูเหมือนระบบการเตรียมพร้อมของนักกีฬาจีนจะไม่ค่อยเต็มศักยภาพนัก จากสภาพสังคมประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
มีการเปิดเผยว่า โรงเรียนกีฬาผู่ตงในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นโรงเรียนกีฬาอันดับหนึ่งของจีนที่มีส่วนสำคัญ ในการสร้างนักกีฬาจีนให้เป็นแชมป์โอลิมปิคมานานกว่า 30 ปี เคยต้องประสบกับปัญหาเนื่องจากพ่อแม่
ชาวจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ลูกต้องถูกฝึกฝนอย่างหนักเป็นกิจวัตรตั้งแต่อายุ 6 ปีและใช้เวลาเรียนหนังสือน้อยกว่าที่โรงเรียนอื่น
โรงเรียนกีฬาทั่วประเทศจีนปิดตัวลงเป็นจำนวนมากจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยพ่อแม่ชาวจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาสูงๆ ของลูกมากกว่าจะอยากให้ลูกเป็นนักกีฬา ซึ่งต่างจากในช่วงปี 2523 ที่ประชาชนยังยากจนกว่านี้ และมองว่าการเป็นนักกีฬาจะช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวได้
นายหวง จิ๋น เลขาธิการคณะกรรมการพรรคด้านการศึกษา กล่าวว่า “พ่อแม่ในสมัยนี้ไม่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนกีฬา ถ้าผลการสอบออกมาไม่ดี โรงเรียนกีฬาไม่ได้รับความนิยมเท่าในสมัยก่อนอีกแล้ว เพราะคนในสังคมให้คุณค่ากับการศึกษาสูงๆมากกว่า”
ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยผลสำรวจจากภาครัฐว่า โรงเรียนกีฬาหลายแห่งใน 9 เมืองสำคัญ จัดการเรียนการสอนให้เด็กนักเรียนไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุมเนื้อหาตามหลักสูตร นอกจากนี้ฝ่ายบริหารการศึกษาในท้องถิ่นยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยเกินไป อ้างอิงจากเอกสารที่ 23 จากรัฐบาล
รัฐบาลจีนตอบรับกับปรากฏการณ์ที่สำคัญนี้ ด้วยการกำหนดนโยบายใหม่ในปี 2553 เรียกว่า เอกสารที่ 23 โดยสั่งการให้โรงเรียนกีฬาทั่วประเทศปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอน และให้การสนับสนุนนักกีฬาที่เกษียณจากอาชีพแล้ว
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนกีฬาผู่ตงในเซี่ยงไฮ้ จึงได้มีการปรับระบบการเรียนใหม่ โดยในบรรดานักเรียน 700 คน มีมากกว่าครึ่งที่เรียนเนื้อหาตามหลักสูตรในโรงเรียนอื่น ส่วนนักเรียนที่เรียนแบบเต็มเวลากับโรงเรียนกว่า 300 คนนั้นมีประมาณ 10% ที่ไม่ได้พักอยู่ในหอพักของโรงเรียน
อดีตนักกีฬาอย่าง นางสาวหวัง หลินเหวิน วัย 25 ปี ที่เคยเป็น นักกีฬาวูซู ซึ่งเป็นกีฬาที่ผสมผสานกับศิลปะการป้องกันตัวให้ความเห็นว่า ควรมีการปฏิรูประบบการเรียนการสอนของโรงเรียนกีฬา เพื่อให้ส่งผลดีกับผู้ที่ตั้งใจอยากจะเข้าเรียนที่โรงเรียนกีฬาอย่างแท้จริง
เธอเล่าว่าในเวลา 5 ปี ที่เธอเรียนในโรงเรียนกีฬาจนกระทั่งเลิกไปในปี 2552 เธอต้องฝึกฝนและซ้อมกีฬาอย่างหนักทุกวัน จะเรียนเนื้อหาวิชาอื่นๆตามหลักสูตรก็แค่ในวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น
อดีตนักกีฬาสาวกล่าวว่า “ฉันเสียโอกาสไปมาก เพราะไม่ได้รับการศึกษาตามหลักสูตรเหมือนนักเรียนทั่วไป การปฏิรูปโรงเรียนกีฬาเป็นเรื่องดี นักเรียนที่จบมาจะได้มีความรู้ทัดเทียมคนอื่น”