อินเดียห้ามกูเกิ้ลสตรีทวิว
อินเดียปฏิเสธโครงการของบริษัทกูเกิ้ลที่จะให้บริการสตรีทวิวในประเทศ หลังจากมีการคัดค้านจากหน่วยงานความมั่นคง
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า พวกเขากังวลว่าบริการสตรีทวิวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
บริการกูเกิ้ลสตรีทวิว เป็นการเก็บภาพด้วยความคมชัดสูง เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ชมภาพ 360 องศาของถนน สถานที่ท่องเที่ยว ภูเขา และแม่น้ำหลายๆ สาย
ทั้งนี้การเก็บข้อมูลภาพของกูเกิ้ลสร้างความกังวลด้านความปลอดภัยและด้านความมั่นคงให้หลายๆ ประเทศเช่นกัน
สำนักข่าวเพรส ทรัส ออฟ อินเดีย รายงานว่ากระทรวงมหาดไทยของอินเดียได้ชี้แจงกับกูเกิ้ลว่าโครงการนี้ที่จะมีการดำเนินการคลอบคลุมทั่วประเทศอินเดียถูกปฏิเสธแล้ว
หน่วยงานความมั่นคงได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการเช่นการถ่ายรูปอย่างโครงการกูเกิ้ลสตรีทวิว เนื่องจากเหตุการณ์การวางแผนบุกโจมตีเมืองมุมไบในปี 2551 อาจเกี่ยวเนื่องกับภาพถ่ายสอดแนมของ นายเดวิด เฮดลีย์ “นักวางแผน” คนสำคัญ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะ ฮินดู ว่า “สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือ การวางแผนการป้องประเทศที่อาจถูกโจมตีได้ทุกเมื่อ กระทรวงกลาโหมรายงานว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจสอบภาพถ่ายจากกูเกิ้ลสตรีทวิวหลังจากที่ภาพเหล่านั้นถูกเปิดเผยในโลกอินเตอร์เน็ต และนั่นอาจสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศได้”
โฆษกจากบริษัทกูเกิ้ลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า พวกเขายังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งที่แน่นอน
ในปี 2554 ตำรวจทางตอนใต้ของเมืองบังกาลอร์ห้ามบริษัทกูเกิ้ลจากการเก็บภาพเพื่อโครงการกูเกิ้ลสตรีทวิวรอบเมืองโดยพลการหลังจากถูกคัดค้าน แต่ถึงอย่างนั้นกล้องที่ถูกติดตั้งอยู่บนรถยนต์ได้เก็บภาพรอบเมืองไปเรียบร้อยแล้ว
กูเกิ้ลสตรีทวิว ถูกเปิดตัวครั้งแรกในเดือนพ.ค. ปี 2550 โดยได้ถ่ายรูปครอบคลุมทั่วเมือง ซานฟรานซิสโก ลาสเวกัส เดนเวอร์ นิวยอร์ค และไมอามี เพื่อการจำลองสถานที่จริงให้ผู้ใช้บริการได้ทำความเข้าใจกับถนนหนทางผ่านกล้องพิเศษที่ติดตั้งบนรถยนต์
แม้ว่ากูเกิ้ลสตรีทวิวจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็สร้างปัญหาให้กับความเป็นส่วนตัวของผู้คนในบางประเทศได้เช่นกัน
ในปี 2553 มีชาวเยอรมันกว่า 250,000 คนได้ร้องขอให้กูเกิ้ลเบลอภาพบ้านของพวกเขาจาก กูเกิ้ลสตรีทวิว และรัฐบาลของสาธารณรัฐเช็กเองได้ทำการห้ามไม่ให้กูเกิ้ลเก็บรูปแม้แต่รูปเดียวภายในประเทศเพื่อไปให้บริการดังกล่าว.