สตรีจีนแกร่งระดับโลก
ผู้บริหารหญิงชาวจีนโชว์ความสามารถและพลังที่โดดเด่นจนเข้ามาติดอยู่ในอันดับสตรีทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของนิตยสารฟอร์บส์ในปีล่าสุดได้หลายคน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลจากเยอรมนียังคงรั้งอยู่ในอันดับ 1 ในโผการจัดอันดับสตรีทรงอิทธิพลที่สุดของโลกครั้งนี้
ทั้งนี้นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาและนางเจเนท เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ติดอยู่ในอันดับ 2 และ 3
อ้างอิงจากผลการสำรวจ สตรีนักบริหารที่เปี่ยมความสามารถจากสหรัฐฯ มีจำนวนมากที่สุดถึง 51 คน ขณะที่ผู้บริหารหญิงจากจีนมีจำนวนมากรองลงมาเป็นที่ 2
มีสตรี 9 คน จากประเทศจีน (ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก) อยู่ในอันดับสตรีทรงอิทธิพลของโลกในปี 2559 นางลูซี่ เผิง ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซอาลีบาบา และนางมาร์กาเร็ท เฉิน ประธานบริหารองค์การอนามัยโลก เป็นสตรีชาวจีนที่อยู่ในอันดับที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีนางพอลลีอันนา ชู ซีอีโอบริษัทคิงส์ตันเซเคียวริตี้ส์ ซึ่งให้บริการด้านการเงินในฮ่องกง และสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศจีนคือนางเผิง ลี่หยวน ภรรยาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ติดอันดับด้วย
การจัดทำการสำรวจและจัดอันดับได้เผยแพร่รายชื่อสตรี 100 คนจาก 29 ประเทศที่มีประวัติผลการทำงานที่โดดเด่น ทั้งในด้านการเมือง ธุรกิจ เทคโนโลยี และความมีเมตตาใจบุญสุนทาน
นิตยสารฟอร์บส์ให้ข้อมูลว่า สตรีที่มีความสามารถในทำเนียบการจัดอันดับนี้มีรายรับรวมกันสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอิทธิพลต่อผู้คนกว่า 3,600 ล้านคนทั่วโลก
มีผู้บริหารระดับซีอีโอ 32 คน ผู้นำในระดับโลก 12 คนและมหาเศรษฐี 11 คน รวมทั้งสตรีอีก 9 คน ที่สามารถสร้างบริษัทมูลค่าเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมือเปล่า โดยสตรีเหล่านี้มีอายุเฉลี่ย 57 ปี ขณะที่นางมาริสซา เมเยอร์ ซีอีโอจากบริษัทยาฮูมีอายุน้อยที่สุดคือ 41 ปี และผู้ที่มีอายุมากที่สุดคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 ทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา
นับเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันแล้วที่นายกรัฐมนตรีแมร์เคิล จากเยอรมนีรั้งอันดับ 1 ในการจัดอันดับนี้และติดอยู่ในโผรวมทั้งหมดถึง 10 ครั้ง โดยนางมอยรา ฟอร์บส์ ประธานและผู้ตีพิมพ์นิตยสารฟอร์บส์วูเเมน ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่นายกฯของเยอรมนีสามารถครองตำแหน่งสตรีทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมาได้อย่างยาวนานหลายปี
นางฟอร์บส์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีว่า “นายกฯแมร์เคิลไม่เพียงเป็นผู้นำประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในโลก เธอยังสามารถท้าทายความคิดเห็นทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป อย่างเช่น ในกรณีของกรีซและสเปนที่เธอพยายามช่วยเหลือด้านงบประมาณมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังสามารถรับมือกับวิกฤตผู้อพยพ เธอเป็นผู้มีอิทธิพลกว้างไกลเกินขอบเขตพรมแดนแบบเดิมๆ”