ค้าปลีกอังกฤษเดือนเม.ย.ฟื้นตัว
ตัวเลขอย่างเป็นทางการชี้ว่า ยอดค้าปลีกโดยรวมของสหราชอาณาจักรในเดือนเม.ย.พุ่งขึ้นอย่างแรงถึงแม้ยอดขายเสื้อผ้าของฤดูใบไม้ผลิจะลดลง เนื่องจากอากาศยังคงหนาวอยู่
โดยยอดขายค้าปลีกเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.อ้างอิงจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ยอดค้าปลีกยังเพิ่มขึ้นถึง 4.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ทางโอเอ็นเอส ปรับแก้ตัวเลขค้าปลีกของเดือนมี.ค. โดยตัวเลขแสดงว่า ยอดลดงเพียง 0.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมว่าจะลดงถึง 1.3%
นางเมลานี่ ริชาร์ด นักสถิติประจำโอเอ็นเอสกล่าวว่า “ยอดค้าปลีกเสื้อผ้าตามร้านต่างๆ ยังไม่เติบโตมากนัก เนื่องจากอากาศที่ยังคงหนาวเย็นอยู่ ถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยอดขายในเดือนเม.ย.ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยอดขายเดือนมี.ค.เนื่องจากการลดราคาสินค้าช่วยกระตุ้นยอดขายโดยรวม”
จากสถิติของโอเอ็นเอสและผลการสำรวจของสมาคมค้าปลีกอังกฤษชี้ว่า อากาศที่หนาวเย็นกว่าปรกติในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในเดือนมี.ค. สั่นคลอนอุปสงค์สำหรับเสื้อผ้าฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน
โดยสถิติล่าสุดของ โอเอ็นเอส แสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าขายปลีกตามร้านในเดือนเม.ย.นี้ลดลงเฉลี่ย 2.8% จากราคาสินค้าในปีก่อน เป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ร่วงลงถึง 7.3% และราคาอาหารลดลง 2.3% จากสงครามหั่นราคาที่ดุเดือดของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
นางวิคกี้ เรดวู้ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัทแคปปิตัล อิโคโนมิคส์มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ถูกกระทบจากการลงประชามติที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปที่กำลังจะมีขึ้น
โดยเธอกล่าวว่า “อันที่จริง การใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วยปกป้องเศรษฐกิจจากการชะลอตัวในไตรมาสนี้ ถึงแม้การลงประชามติจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการลงทุน” หอการค้าอังกฤษ (BCC) รายงานว่ายอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นของเดือนเม.ย.ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังคงต้องจับตามองความไม่สมดุลของเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่
โดยนายเดวิด เคิร์น หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำบีซีซีให้ความเห็นว่า “หลังจากผิดหวังกับตัวเลขที่ลดลงในเดือนมี.ค.ยอดขายค้าปลีกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ช่วยสนับสนุนให้เราเห็นทิศทางเศรษฐกิจของอังกฤษว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการชะลอตัวลงบ้าง” ทางบีซีซียังได้เรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นที่การส่งออก การลงทุนและการผลิต
ทั้งนี้ ตัวเลขยอดค้าปลีกที่ดีเกินคาดการณ์ช่วยหนุนให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น โดยเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเงินยูโร อยู่ที่ 1.3053 ยูโรต่อ 1 ปอนด์ และแข็งค่าขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 1.4625 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ปอนด์