ยุโรป 60 ล้านเสี่ยงกระทบเรื่องงาน
ลอนดอน – งานเกือบ 60 ล้านอัตราทั่วสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงจากโรคระบาดโควิด -19 จากรายงานของแมคคินซีย์
บริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจแห่งนี้เตือนในรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ว่า อัตราการว่างงานในอียูอาจเพิ่มขึ้นจากประมาณ 6% ไปที่มากกว่า 11% และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกนานเป็นปีหากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว
แมคคินซีย์ประเมินว่า 1 ใน 4 งานทั่วสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงที่จะลดชั่วโมงการทำงาน หรือลดค่าจ้าง ให้พักงานชั่วคราว หรือออกจากงานอย่างถาวร โดยอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องติดต่อกับผู้อื่น ทั้งบัญชีและสถาปนิก มีความเสี่ยงต่ำ รวมถึงบริการสำคัญอย่างตำรวจ
แรงงาน 55 ล้านคนมีการจ้างงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งแคชเชียร์ร้านค้าปลีก พ่อครัว แรงงานก่อสร้าง พนักงานโรงแรมและนักแสดง โดยประมาณ 80% ของงานที่มีความเสี่ยงสูงเป็นผู้ที่ไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยพนักงานของบริษัทขนาดเล็กมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
ภายใต้สถานการณ์รุนแรง หากยุโรปล้มเหลวในการควบคุมไวรัสภายใน 3 เดือนและถูกบีบให้ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดช่วงฤดูร้อน อัตราการว่างงานในยุโรปจะพุ่งขึ้นถึงจุดพีคที่ 11.2% ในปี 2564 โดยมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนเดิมในปี 2567
แมคคินซีย์ระบุว่า ภาคธุรกิจและและรัฐบาลจำเป็นต้องปกป้องอัตรางานอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทอาจตัดลดค่าใช้จ่าย เปลี่ยนกะการทำงาน และอาจทำงานจากที่บ้านเท่าที่จะทำได้ รัฐบาลควรจัดเตรียมเงินกู้ การลดภาษีและจ่ายเงินเยียวยาให้แรงงาน ซึ่งหลายประเทศได้เริ่มทำไปก่อนหน้านี้แล้ว
สหราชอาณาจักรจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างครอบคลุม 80% ของเงินเดือนแรงงานอย่างน้อย 3 เดือน โดยจ่ายให้สูงสุด 2500 ปอนด์ ( ราว 102,325 บาท ) ต่อเดือน เยอรมนีและฝรั่งเศสมีนโยบายเช่นเดียวกัน ขณะที่สหภาพยุโรปมีหลายมาตรการเยียวยา ทั้งเงินอุดหนุนค่าจ้างมูลค่า 100,000 ล้านยูโร ( ราว 3.5 ล้านล้านบาท ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลย์ออฟพนักงาน รวมทั้งเงินกู้เพื่อธุรกิจสำหรับรัฐบาลประเทศสมาชิกอียูอีกหลายแสนล้านยูโรด้วย
“ การปกป้องงานที่ยังมีสถานะที่ดี สร้างผลผลิตที่ดีเป็นเรื่องจำเป็น การสูญเสียงานเหล่านั้นจะไม่เป็นเพียงโศกนาฏกรรมในระดับบุคคล แต่ยังสร้างความเจ็บปวดด้านเศรษฐกิจอีกด้วย ” รายงานแมคคินซีย์ระบุ
ตลาดแรงงานในสหรัฐฯก็ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาด โดยแรงงานประมาณ 22 ล้านคน หรือประมาณ 13.5% ของกำลังแรงงานในระบบ ยื่นขอสวัสดิการคนว่างงานตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. โดยคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งสูงถึง 4.4% ในเดือนมี.ค. (จากที่เคยต่ำสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 3.5% ในเดือนก.พ.) จะเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักในเดือนเม.ย.
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 15% หรือมากกว่า ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ประจำ JPMorgan คาดการณ์ว่าตัวเลขว่างงานจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 20%
ทั้งนี้ การจ้างงานในสหรัฐฯลดฮวบลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากกว่าในยุโรปในช่วงปี 2551 ที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก จากรายงานของแมคคินซีย์ ส่วนใหญ่เป็นเพราะกฎหมายแรงงานในสหรัฐฯมีความยืดหยุ่นมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานสหรัฐฯปรับตัวฟื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่การจ้างงานกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตภายในสิ่นปี 2557 ขณะที่ในยุโรป ต้องใช้เวลามากกว่าสหรัฐฯ ถึงสองปีจึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม.