คาดบริโภคเอเชียซบเซา 6 เดือนจากโควิด-19
จากผลการศึกษาล่าสุด ผู้บริโภคเอเชียต่างพากันรัดเข็มขัด ระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินจากผลกระทบการระบาดของโควิด -19
บรรดานักช้อปในจีน เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียต่างลดการซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้า สกินแคร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีความกังวลจากแนวโน้มรายได้และเงินออมเนื่องจากโรคระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก จากรายงานของแมคคินซีย์
ขณะเดียวกัน อาหารสด เครื่องใช้ในครัวเรือน และความบันเทิงในครอบครัว ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อความสุขในครอบครัว จากผลการสำรวจใน 5 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในเอเชีย
โดยผลการศึกษา ซึ่งมีการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 500 – 1,000 คนในแต่ละประเทศในวันที่ 23 – 30 มี.ค. ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้มีการสำรวจในจีน วันที่ 21 – 24 ก.พ.
ผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าไวรัสส่งผลกระทบด้านลบกับการเงินของครัวเรือนในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนเม.ย. และส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ามีแนวโน้มว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 – 6 เดือน
โดยชาวเกาหลีใต้อยู่ในกลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุดเรื่องผลกระทบกับรายได้ ขณะที่ชาวอินโดนีเซียกลัวการใช้จ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นและกลัวเงินออมลดลง
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่รู้สึกเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในประเทศตัวเองจะฟื้นคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิม
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในจีน อินเดียและอินโดนีเซียระบุว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวใน 2 – 3 เดือน ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่เหลือคิดว่าน่าจะกินเวลา 6 – 12 เดือน ความเชื่อมั่นของจีนที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วปรับเพิ่มขึ้น 5% จากเดือนที่แล้ว
ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามจากกเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเชื่อว่าเศรษฐกิจจะซบเซานานถึง 6 เดือนหรือมากกว่า
ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ของผู้บริโภคสะท้อนว่าไวรัสแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
จีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในช่วงแรก แสดงสัญญาณที่มีเสถียรภาพและเริ่มเปิดเมือง เปิดธุรกิจแล้ว
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อินโดนีเซียมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในอาเซียน (18 เม.ย.)
รายงานนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกปี 2563 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ะระบุว่า ในปีนี้ เอเชียจะไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี