IMF คาดศก.เอเชียปีนี้ไม่โต
เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี ที่ภูมิภาคเอเชียจะไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเลยในปีนี้จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด -19 จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF
“ นี่เป็นวิกฤตที่ไม่เหมือนครั้งอื่นๆ แย่กว่าวิกฤตการเงินทั่วโลก และเอเชียไม่มีภูมิคุ้มกัน ” ชางยงรี ผอ.ฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ระบุในบล็อกโพสต์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา
“ มีความผันผวนมหาศาลของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 และแม้แต่แนวโน้มในปี 2564 ผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย จะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” เขาเสริม
IMF ระบุว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก ในระหว่างวิกฤตก่อนหน้านี้อย่างวิกฤตการเงินในเอเชียปี 2540 และวิกฤตการเงินโลกช่วงปี 2551 – 2552 เอเชียยังคงมีการเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3% และ 4.7% ตามลำดับ
แต่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 2 ล้านรายและเสียชีวิตกว่า 130,000 รายทั่วโลก ทำให้ต้องระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ประเทศและเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. IMF ระบุว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ โดยคาดว่าสหรัฐฯจะหดตัวลง 5.9% ขณะที่ประเทศในยุโรปจะหดตัวลง 7.5%
จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่คาดว่าจะมีการเติบโตในปี 2563 นี้ จากการคาดการณ์ของ IMF แต่ทางกองทุนระบุว่า ตัวเลขเติบโตเพียง 1.2% สำหรับจีนถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ของจีน
“ ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก จีนกลับมีการเติบโตที่สวนทางคือมีการเติบโตถึง 9.4% ในปี 2552 โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คิดเป็นประมาณ 8% ของจีดีพี” รีระบุ โดยอ้างถึงจีดีพีซึ่งเป็นมาตรวัดขนาดเศรษฐกิจ
“เราไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ และจีนจะไม่ช่วยหนุนให้เอเชียโต เหมือนกับในปี 2552” เขาเสริม
โดย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวลง 5.2% ขณะที่อินเดียหดตัวลง 1.9% เกาหลีใต้ 1.2% และประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จะหดตัวลงรวมกัน 1.3%
อย่างไรก็ตาม เอเชียยังคงดีกว่าภูมิภาคอื่นในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รีระบุในบล็อก โดยเขาชี้แจงว่าเอเชียจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 หากมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสนับสนุนงาน
“แต่ไม่มีเวลาให้ชะล่าใจ” เขากล่าว
“ เอเชียประสบกับสภาวะการระบาดที่แตกต่างกัน เศรษฐกิจของจีนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ ขณะที่ประเทศอื่นค่อยๆ คลายมาตรการล็อกดาวน์ และอีกหลายประเทศกำลังประสบกับคลื่นการระบาดในระลอกสอง โดยส่วนใหญ่ขึ้นกับสภาวะการระบาดของไวรัสและนโยบายในการรับมือ”.