ข่าวฉาวถล่มมิตซูบิชิทรุด

ถึงยอดขายรถยนต์จะกำลังดิ่งเหว ชื่อเสียงบริษัทก็ถูกทำลายเสียหาย แต่ผู้บริหารบริษัทมิตซูบิชิก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า บริษัทจะฝ่าฟันและผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านี้ไปได้
นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษที่อนาคตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มิตซูบิชิต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายและพยายามดิ้นรนหาจุดที่สมดุล หลังจากข่าวแพร่กระจายออกไปว่าบริษัทโกงค่าทดสอบอัตราประหยัดน้ำมันมานานหลายปี
วิกฤติการณ์ครั้งนี้ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของบริษัทที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน แต่นักวิเคราะห์มองว่า โครงข่ายที่ทรงพลังของผู้ถือหุ้นในบริษั สัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้จะสามารถกอบกู้และพลิกฟื้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้
นายฮิเดยูกิ โคบายาชิ อาจารย์สอนวิชาบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนของบริษัทมิตซูบิชิในเวลาที่ผ่านมากล่าวว่า “ผมคิดว่าอนาคตของมิตซูบิชิค่อนข้างมืดมน คงเป็นเรื่องที่แปลกมากที่คนจะซื้อรถแบรนด์มิตซูบิชิอีกหลังจากข่าวฉาว แต่นี่ไม่ใข่ครั้งแรกที่บริษัทต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหนาสาหัสแบบนี้”
ในปี 2548 ตลาดรถยนต์รุ่นเอาท์แลนเดอร์และแลนเซอร์ของบริษัทสามารถหลุดพ้นจากภาวะเกือบล้มละลาย หลังจากมีข่าวว่า บริษัทปกปิดข้อบกพร่องของรถยนต์ที่เป็นสาเหตุทำให้มีผู้ได้รับอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ประธานบริษัทมิตซูบิชิยอมรับในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทกำลังอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผู้ถือหุ้นในระดับบริหารกลับไม่แสดงท่าทีอะไรมากนัก
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กลุ่มบริษัทมิตซูบิชิมีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือในส่วนบริษัทผลิตรถยนต์ที่อาจจะต้องถูกปรับและจ่ายค่าเสียหายมูลค่าสูง ค่าดำเนินการทางกฎหมายและค่าชดเชยให้ลูกค้า
นายชุนิจิ มิยานางะ ประธานบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 12% ในส่วนบริษัทผลิตรถยนต์กล่าวว่า “บริษัทต้องคิดถึงภาพลักษณ์โดยรวมของมิตซูบิชิกรุ๊ป ความรับผิดชอบต่อสังคม และจิตสำนึกความรับผิดชอบในการแสดงออก”
นอกจากนี้ บริษัทยังต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทนิสสันด้วย เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กและปกปิดปัญหาค่าประหยัดน้ำมันของรถเหล่านี้ด้วย ประเมินว่าตัวเลขรถยนต์ขนาดเล็กที่ขายได้ของแบรนด์นิสสันในประเทศญี่ปุ่นมีมากกว่า 300,000 คัน
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์มิตซูบิชิในญี่ปุ่นลดฮวบลงไปกว่า 50% ทันทีหลังจากข่าวอื้อฉาวแพร่กระจายในสัปดาห์ที่ผ่านมา และชื่อเสียงที่มัวหมองสั่นคลอนสถานภาพการเงินของบริษัทอย่างรุนแรง
นายเซจิ ซุงิอุระ นักวิเคราะห์ประจำสถาบันวิจัยโตไก โดเกียวกล่าวว่า “ผมยังมองไม่เห็นภาพเลยว่า บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยทั้งหมดนี้ได้อย่างไร เพราะมันมีมูลค่ามหาศาลมาก แต่น่าแปลกที่แบรนด์มิตซูบิชิยังคงแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลกำไรที่สำคัญของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงงานใหม่ในอินโดนีเซียอีกด้วย”
เขากล่าวเสริมว่า “อาจมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการฟื้นฟูบริษัทได้ ถ้าบริษัทไม่ต้องพัวพันยุ่งเหยิงกับความผิดในตลาดต่างประเทศ”