ศก.ยุโรปโตเกินคาดแต่เจอเงินฝืด
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลว่าเศรษฐกิจในยูโรโซน มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าบริโภคเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้ง
ยูโรสแตทหรือสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเผยแพร่ข้อมูลว่า ตัวเลขจีดีพีของยูโรโซนในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัว 0.4% ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของยูโรโซนในเดือนมี.ค. ปรับลดลงเล็กน้อยไปอยู่ที่10.2% ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2554 และลดลงมาจากตัวเลข 10.4% ในเดือนก.พ.
อย่างไรก็ตามมีข่าวร้ายตามมาคือ ยุโรปกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด โดยข้อมูลประมาณการล่าสุดชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 0.2% ในเดือนเม.ย. จากตัวเลขเดิม 0% ในเดือนมี.ค. อ้างอิงจากข้อมูลประจำปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่อิงจากราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น น้ำมันและอาหาร) ปรับเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย.
โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จีดีพีของยุโรปจะปรับเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเลข 0.3% ในไตรมาส 4 ของปี2558
ข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่หลังจากธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนมี.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างต่ำกว่าเป้าของธนาคารกลาง แต่ก็ใกล้เคียงที่ 2%
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0% และปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากเข้าสู่แดนลบ ช่วยผลักดันมูลค่าการเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลให้สูงถึง 80,000 ล้านยูโรต่อเดือน และเพิ่มจำนวนหุ้นกู้เข้ามาในระบบ
นางเพอร์นิลล์ บอมโฮลท์ เฮนเนเบิร์ก นักวิเคราะห์อาวุโสประจำธนาคารเดนสเกของเดนมาร์กกล่าวกับสื่อว่า “ธนาคารกลางยุโรปต้องอดทนมากและเฝ้ารอดูว่ามาตรการที่ออกมาจะส่งผลอย่างไร แต่ทางธนาคารคงไม่ต้องรอนาน เพราะเงินเฟ้อจะต่ำอย่างนี้ไปอีกนาน หากอ้างอิงจากข้อมูลล่าสุด”
เธอกล่าวว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยสนับสนุนนโยบายของธนาคารกลางโดยทำให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้น “แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการติดตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะจะส่งผลกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและอัตราการเติบโตของค่าแรงขั้นต่ำ และเรายังไม่เห็นผลชัดเจนในเวลานี้”
นายโฮเวิร์ด อาร์เชอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ประจำอังกฤษและยุโรป มองว่า มีสัญญาณด้านบวกในการเติบโตของยูโรโซนและมาตรการของธนาคารกลางจะเริ่มส่งผลในเร็วๆนี้
โดยเขาให้ความเห็นว่า “ในขณะเดียวกัน ตลาดงานที่ปรับตัวดีขึ้นในยุโรปช่วยหนุนตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคไปพร้อมกับกำลังซื้อที่มาจากเงินฝืดและเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย”.
หมายเหตุ 1 ยูโร = 40.09บาท วันที่ 29 เม.ย. 2559.