โรคอ้วนในเด็กจีนพุ่งพรวด

วัยรุ่นจีนที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในชนบท จากการศึกษาพบว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของจีน
นักวิจัยพบว่าในปี พ.ศ.2557 มีสถิติสูงถึง 17% ของวัยรุ่นชายและ 9% ของวัยรุ่นหญิงอายุต่ำกว่า 19 ปีที่เป็นโรคอ้วน โดยเพิ่มขึ้นจากสถิติเดิม 1% ในปี พ.ศ.2528
โครงการค้นคว้าวิจัยนี้ใช้เวลามากกว่า 29 ปี และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือวารสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัวใจ โดยเหล่านักเรียนในมณฑลซานตงมีส่วนร่วมในโครงการนี้เกือบ 28,000 คน
โดยการค้นคว้าครั้งนี้มีมาตรฐานการวัดค่า BMI หรือดัชนีมวลกายที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก นายยูป เปลก จากสมาคมหัวใจยุโรป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวของฝรั่งเศสว่า “นี่เป็นปัญหาใหญ่ของโรคอ้วนในวัยเด็กและวัยรุ่นที่มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น”
การค้นคว้านี้ได้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางสังคม เศรษฐกิจ และทางโภชนาการ ทำให้มีการบริโภคเพื่อพลังงานมากขึ้น และมีการออกกำลังกายลดลง
อาหารจีนแบบดั้งเดิมนั้นกลายเป็นอาหารแบบ “ไขมันสูง พลังงานสูง และใยอาหารต่ำ”โดยข้อมูลเหล่านี้มาจากการสำรวจทั้ง 6 ครั้งของรัฐบาลเกี่ยวกับนักเรียนอายุระหว่าง 7-18 ปี ในชนบทของมณฑลซานตงผลการศึกษาค้นคว้าเผยว่า ร้อยละของเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยในเด็กชายนั้นเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 16.4% และเด็กผู้หญิงเพิ่มจาก 1.5% เป็นเกือบ 14%
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้เด็กผู้ชายมีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนมากขึ้นเป็นเพราะ “ค่านิยมดั้งเดิมที่ชาวจีนในชนบทนั้นมักจะมีลูกชายเพื่อสืบสกุล ทำให้มีประชากรเด็กชายมากขึ้น รวมไปถึงหลายครอบครัวมีฐานะร่ำรวยขึ้น ทำให้เด็กชายมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะได้รับการเลี้ยงดูที่ดีเกินไป”
องค์กรอนามัยโลกได้ทำการจัดประเภทค่าดัชนีมวลกายคือ อัตราส่วนของน้ำหนักต่อความสูงยกกำลังสอง ถ้าได้ 25 – 29.9 แปลว่าน้ำหนักตัวมากเกิน และถ้าได้ 30 หรือมากกว่านั้นแปลว่าเป็นโรคอ้วน แต่การค้นคว้าในครั้งนี้ ใช้มาตรฐานการวัดค่าที่ต่ำกว่า โดย 24-27.9 นั้นแปลว่ามีน้ำหนักเกิน และ 28 หรือมากกว่านั้นแปลว่าเป็นโรคอ้วน
นักวิจัยได้ให้คำแนะนำว่า “กลวิธีที่ครอบคลุมสำหรับการควบคุมน้ำหนักคือ การตรวจร่างกายเป็นระยะ การศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบของโภชนาการ การออกกำลังกาย และบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ”.