รัสเซีย-ซาอุผลิตน้ำมันตามใจตัวเอง
หลังจากการประชุมที่กรุงโดฮาในสัปดาห์ที่แล้วล้มเหลว รัสเซียและซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ตั้งใจที่จะคงเพดานการผลิต แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ต่างก็เพิ่มปริมาณการผลิต
โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมและตลาดน้ำมันขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (EIA) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาเชื่อว่าทั้งสองประเทศจะเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันให้สูงเท่าที่จะทำได้
นายนีล แอทคินสัน จากอีไอเอ กล่าวว่า “หลังจากการประชุมที่กรุงโดฮา เรายังคงอยู่ในตลาดน้ำมันเสรี ทางรัสเซียจึงเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันมากที่สุดเท่าที่ตลาดจะรองรับได้และทางซาอุดิอาระเบียก็ปฏิบัติแบบเดียวกัน”
“เราจึงกลับไปสู่สถานการณ์เดิมก่อนการประชุมที่กรุงโดฮา ที่ทุกประเทศผลิตน้ำมันออมามากเท่าที่ทำได้ ขายมากเท่าที่จะขายได้ในราคาที่ตัวเองพอใจ และตลาดก็ต้องคอยระวังเรื่องอุปทานที่ล้นตลาดในเวลานั้น” นายแอทคินสันเน้นว่า
“ทางรัสเซียเอง ถึงแม้จะได้เข้าร่วมประชุมที่กรุงโดฮาและมีส่วนในข้อตกลงที่จะคงเพดานการผลิตน้ำมัน แต่ก็ยังคงเพิ่มปริมาณการผลิตอยู่ดี”
นายแอทคินสันมีความเห็นในเรื่องนี้หลังจากการประชุมของประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปกและไม่ใช่โอเปกในกรุงโดฮาในสัปดาห์ที่แล้ว ที่ความหวังในการคงเพดานการผลิตน้ำมันต้องพังทลายลง ผู้แทนจากซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ทางซาอุฯจะตัดสินใจคงเพดานการผลิตน้ำมันถ้าอิหร่านจะปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่ทางอิหร่านปฏิเสธ เนื่องจากอิหร่านมุ่งมั่นที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันกลับคืนมา
หลังจากมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติถูกยกเลิกนักวิเคราะห์ด้านน้ำมันประเมินว่า อาจมีความตึงเครียดระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปกเพิ่มขึ้นในการประชุมของสมาชิกกลุ่มประเทศโอเปกทั้ง 13 ประเทศในวันที่ 2 มิ.ย.ที่จะถึงนี้
กลุ่มประเทศโอเปกแถลงเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ว่า จะมีการพูดคุยเรื่องการคงเพดานการผลิตน้ำมันอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า แต่ผลจากการประชุมทั้ง 2 ครั้ง ไม่ได้ทำให้ตลาดน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบีย อิหร่านและรัสเซียต่างถูกกดดันให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน
นายแอทคินสัน กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียยังสามารถเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันได้อีก2 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งคูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ยังสามารถเพิ่มเพดานการผลิตได้สูงเท่าที่ต้องการเหล่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำมาตั้งแต่กลางปี 2557 เนื่องจากอุปทานล้นตลาดและอุปสงค์ที่ซบเซา แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดกลับเป็นสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานที่มีต้นทุนในการผลิตสูง โดยสหรัฐอเมริการับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ด้วยการปิดแท่นขุดเจาะบางส่วน ลดเพดานการผลิตและการสำรวจลง
โดยนายแอทคินสันเชื่อว่า ตลาดน้ำมันจะเข้าสู่จุดสมดุลในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำมันจากหินดินดานจะลดลงในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะเพิ่มเพดานการผลิตอีกครั้งในอนาคต.