ไลน์รุกตลาดในเอเชีย
ไลน์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อการแชทสุดฮิตจากญี่ปุ่น ได้มีแผนดึงผู้ใช้หน้าใหม่ด้วยกลยุทธที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยมีรายงานว่า บริษัทไลน์มีข้อความถึงบริษัทเฟซบุ๊กว่าเอเชียเป็นของเรา
ในตลาดญี่ปุ่นเอง สติกเกอร์กระต่าย ‘โคนี่’ และหมี ‘บราวน์‘ หน้าตาน่ารักล้วนดึงดูดสายตาตั้งแต่นักเรียนมัธยมหญิงไปจนถึงนักธุรกิจสวมสูทหรูได้อย่างน่าแปลกใจ ในอินโดนีเซีย ไลน์สร้างบริการเครือข่ายเพื่อนร่วมชั้นเรียน หลังจากศึกษาตลาดว่า เครือข่ายศิษย์เก่ามีพลังทางสังคมอย่างมาก นอกจากนี้ ในหลายประเทศมุสลิม ไลน์ยังมีฟีเจอร์สำหรับเตือนเรื่องการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วย กลยุทธทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อช่วงชิงให้ได้ลูกค้ารายใหม่ ก่อนที่ลูกค้าจะมีโอกาสไปติดหนึบกับบริการของคู่แข่ง อย่างเช่น เฟซบุ๊กและวอทส์แอพ หรือ วีแชทของจีน
นายทาเคชิ อิเดซาวะ อายุ 42 ปี ซีอีโอของบริษัทไลน์ กล่าวว่า “ไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่ได้ขึ้นเป็นผู้นำ ด้วยบริการที่หลากหลายของไลน์ในเอเชีย เราสามารถพูดได้ว่า เราอยู่แถวหน้า” นายอิเดซาวะมีความทะเยอทะยานที่จะสร้างสรรค์ให้ไลน์ขึ้นเป็นผู้นำในเอเชีย
เนื่องจากปัจจุบัน ไลน์มียอดผู้ใช้และได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น ไทยและไต้หวัน โดยซีอีโอของไลน์คนนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดผู้ใช้บริการในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนในภูมิภาคที่ไม่มีการใหบริการด้านข้อความที่โดดเด่น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีนี้ด้วย โดยไลน์ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเนเวอร์ คอร์ปที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้ รายงานว่ามียอดผู้ใช้ประจำเดือนถึง 215 ล้านคน
ในปัจจุบันสติกเกอร์ของไลน์ได้รับความนิยมมากจนราวกับว่าสามารถมีชีวิตโลดแล่นอยู่ได้นอกแอพพลิเคชั่น โดยไลน์มี 45 ร้านใน 11 ประเทศที่แฟนๆของ มูน, โคนี่,บราวน์ และตัวละครอื่นๆสามารถจะมาหาซื้อตุ๊กตา เครื่องเขียน หรือถ่ายเซลฟี่กับตัวละครสุดโปรดได้ในร้าน ทางบริษัทมีแผนจะเปิดร้านใหม่อีก 3 ร้านในจีนภายในปีนี้ ถึงแม้แอพพลิเคชั่นไลน์จะถูกห้ามใช้ในจีนก็ตาม
มีรายงานว่า บริษัทไลน์มีรายได้จากสติกเกอร์ในปี 2558 สูงถึง 1,100ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซีอีโอของบริษัทคิดค้นหาวิธีการที่แตกต่างเพื่อเพิ่มโฆษณาในแอพพลิเคชั่นเพื่อการส่งข้อความ โดยในแผนการตลาดอันหนึ่งของเขา จะให้บริษัทต่างๆสามารถจ่ายเงิน 40 ล้านเยนเพื่อเข้าถึงลูกค้าและเป็นสปอนเซอร์สติกเกอร์ได้นาน 2 อาทิตย์ และทุกคนจะให้ความสนใจกับโฆษณาที่ปรากฏขึ้นในขณะที่แชทกับเพื่อน
โดยไลน์ตั้งเป้าเพิ่มยอดผู้ใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งอเมริกาใต้ ในปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 3,800 คน ( อายุเฉลี่ยคือ 31 ปี) ที่ให้บริการใน 19 ภาษา ทั้งนี้ เพื่อจะเข้าถึงผู้ใช้ บริษัทมีทั้งวิศวกร ดีไซเนอร์ นักการตลาดและนักพัฒนาธุรกิจครบครันในแต่ละประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในลาตินอเมริกา ไลน์อออกแอพพลิเคชั่นชื่อ บี612 ซึ่งมีผู้นิยมใช้มากกว่า 50 ล้านคน.