จีนประท้วงแบบเรียนญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.จีนได้ส่งสารประท้วงญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแบบเรียนญี่ปุ่นเล่มใหม่ที่บิดเบือนเนื้อหาในประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นเคยกระทำทารุณกับจีน และยังย้ำถึงการอ้างกรรมสิทธิ์ของญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะที่มีกรณีพิพาทกันอยู่ในปัจจุบัน
จีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก กับญี่ปุ่นที่เป็นเบอร์ 3 ของโลกมีปัญหาทางประวัติศาสตร์กันมายาวนาน จากความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดที่เกิดจากการรุกรานจีนของญี่ปุ่นทั้งก่อนและในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และความขัดแย้งในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก
สื่อของญี่ปุ่น รายงานว่า หนังสือแบบเรียนบางเล่มที่ได้รับการอนุมัติจากทางการให้เริ่มใช้ประกอบการเรียนการสอนในเดือนเม.ย.ปี 2560 ได้บรรยายว่าหมู่เกาะที่มีกรณีพิพาทกันอยู่ในขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกตกทอดของญี่ปุ่น โดยหนังสือเรียนบางเล่มยังได้มีการปรับแก้เนื้อหาประวัติศาสตร์เรื่องการสังหารหมู่ในเมืองนานกิงเมื่อปี 2480 อีกด้วย
นางหัว จุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้ถามถึงหนังสือแบบเรียนที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้น โดยจีนได้แสดงความกังวลอย่างมากและได้ส่งสารที่แสดงความไม่พอใจญี่ปุ่นอย่างชัดเจน โดยนางหัวกล่าวว่า
“ไม่ว่าญี่ปุ่นจะใช้วิธีการใดๆที่อาจส่งเสริมและเป็นการทำการตลาดเพื่อบิดเบือนความผิดพลาดที่ผ่านมา ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าเกาะเตียวหยูเป็นของจีนได้” โดยเธอกล่าวอ้างถึงหมู่เกาะพิพาทที่ญี่ปุ่นเรียกว่าเกาะเซนคาขุ
“การสังหารหมู่ที่เมืองนานกิงโดยกองทัพญี่ปุ่นที่บุกรุกรานจีน เป็นประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนและมีบทสรุปในเรื่องนี้มานานมากแล้ว การฟอกขาวและการพยายามปิดบังของญี่ปุ่นในหนังสือแบบเรียนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่อยากที่จะเผชิญหน้ากับความผิดพลาดของประเทศที่เป็นประวัติศาสตร์ในอดีต”
ทั้งนี้ จีนได้ย้ำเตือนให้ประชาชนชาวจีนระลึกถึงว่าในปี 2480 กองทัพญี่ปุ่นทำการสังหารหมู่ชาวจีนไปมากถึง 300,000 คนทั้งในเมืองนานกิงและในเมืองหลวง
ศาลของฝ่ายประเทศสัมพันธมิตรหลังสงครามได้รายงานจำนวนชาวจีนที่เสียชีวิตว่ามีมากถึง 142,000 คน แต่นักการเมืองและนักวิชาการสายอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่นปฏิเสธว่าไม่มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นที่ใดเลย
อย่างไรก็ตาม หนังสือแบบเรียนของจีนเองก็มีเนื้อหาที่แสดงถึงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน คือการปฏิบัติตามกฎของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างเช่นกรณีของธิเบตและไต้หวัน และไม่มีการเอ่ยถึงกรณีอ่อนไหวในอดีต ที่รัฐบาลจีนสั่งการให้ปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532.