ผลผลิตโรงงานจีนชะลอตัว
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนชะลอตัวลงจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน ตอกย้ำความกังวลเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลก
ตัวเลขผลผลิตโรงงานของจีนอยู่ที่ 5.4% ในเดือนม.ค.และก.พ. ซึ่งจัดว่าเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ จีนกำลังพยายามที่จะวิเคราะห์ทบทวนเศรษฐกิจและปรับเปลี่ยนจากที่เคยเน้นการลงทุนและส่งออกเป็นหลัก มาเป็นการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศแทน
นายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีนเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินใลกในปี 2551 เป็นต้นมา
เพิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า การส่งออกของจีนทรุดลงถึง 25.4% ในเดือนก.พ.เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ จัดว่าเป็นตัวเลขประจำเดือนที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาและลดลงมากกว่าตัวเลข 11.2% ในเดือนม.ค. ยอดการค้าปลีกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 10.2% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าตัวเลขค้าปลีกน่าจะอยู่ที่ 10.9%
นายโจวหาว นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารคอมเมิร์ซ กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ตัวเลขที่ผสมผสานระหว่างผลผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงและยอดค้าปลีก “ทำให้เราเห็นภาพที่น่ากังวล” และ “ตัวเลขการขยายตัวโดยรวมยังคงมืดมน”
อย่างไรก็ตาม นายโจว เสี่ยว ชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจะสามารถบรรลุเป้าหมายคือ ได้เห็นตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5% ใน 5 ปีข้า งหน้า โดยที่ไม่ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆเพิ่มเติม
โดยเขากล่าวว่า “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเกินไปเพื่อให้บรรลุตามเป้า หากไม่มีวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือการเงินครั้งใหญ่อีก จีนจะสามารถดำเนินตามนโยบายการเงินได้อย่างระมัดระวังและรอบคอบ”
จากบทวิเคราะห์ของนายออสบอร์นในสื่อเดอะซันของ อังกฤษเมื่อวันที่ 13 มี.ค. เขาได้ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศและความไม่มีเสถียรภาพในตะวันออกกลาง หมายความว่า “ความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจทั่วโลกได้จางหายไปแล้ว”