ปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองในเกาหลีเหนือ
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกในเกาหลีใต้ บรรดานักเรียนนับแสนคนต้องสวมชุดนักเรียนเก่าหรือไม่ก็เสื้อผ้าชุดอื่นไปโรงเรียนแทน
เกิดสถานการณ์ชุดนักเรียนขาดตลาดในเกาหลีใต้ หลังจากโรงงานผู้ผลิตในนิคมอุตสาหกรรมแกซองในเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ต้องถูกบีบให้ทิ้งสต็อกเสื้อผ้า เพราะนิคมอุตสาหกรรมถูกสั่งปิดอย่างกะทันหันเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
เกาหลีใต้สั่งปิดโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแกซองเพื่อเป็นการประท้วงและคว่ำบาตรการทดสอบนิวเคลียร์และการยิงจรวดขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โดยมีโรงงานของเกาหลีใต้ที่ตั้งอยู่ในนิคมแห่งนี้ถูกปิดทั้งหมด 124 แห่งจากผู้ประกอบการ 49 บริษัท มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 815,000 ล้านวอน
บรรดาบริษัทเหล่านี้ต่างเรียกร้องการเยียวยาจากภาครัฐและต้องการกลับไปทำงานให้เร็วที่สุด แต่นักวิเคราะห์มองว่านิคมอุตสาหกรรมนี้คงจะปิดต่อไปอีกหลายเดือน
นายจอง จี ซบ เจ้าของโรงงานสิ่งทอ และควบตำแหน่งประธานนิคมอุตสาหกรรมแกซองให้ความเห็นว่า “ถ้าได้รับค่าชดเชยที่เพียงพอ พวกเราก็อยากจะกลับไปเปิดโรงงานและเริ่มทำงานกันอีกครั้ง”
บริษัทของเขาชื่อ เอสเอ็นจี แฟชั่น ซึ่งมีการจ้างแรงงานตัดเย็บชาวเกาหลีเหนือจำนวน 940 คน และจ้างหัวหน้าคุมงานเป็นชาวเกาหลีใต้ 9 คน โรงงานของเขาผลิตงานป้อน บริษัทฮุนจี เอลิท ซึ่งเป็นผู้จัดซื้อชุดนักเรียนให้กับโรงเรียนมากถึง 679 แห่ง
ทั้งนี้ เขากล่าวว่า มีเสื้อผ้ากว่า 100,000 ชิ้น ที่ต้องถูกทิ้งอยู่ในโรงงานหลังจากโรงงานได้รับการประกาศให้ปิดก่อนเวลาจริงแค่ 2 ชั่วโมงในวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา โรงงานผู้ผลิตชุดนักเรียนอีก 3 แห่งก็ต้องทิ้งเสื้อผ้าจำนวนมากไว้ในโรงงานเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ นิคมอุตสาหกรรมแกซองเคยถูกปิดเป็นเวลา 5 เดือนในปี 2556 จากความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเกาหลี แต่ในครั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การปิดโรงงานจะกินเวลายาวนานกว่าเดิม เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ที่รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นจากมติของสหประชาชาติ
โดยเกาหลีใต้เชื่อว่า 70% ของนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแกซองมีส่วนสนับสนุนในโครงการนิวเคลียร์จากข้อมูลของกระทรวงควบรวม รัฐบาลเกาหลีใต้และบริ ษัทผู้ผลิตใช้เงินลงทุนมูลค่า 1 ล้านล้านวอน รวมถึงเงินสด 616,000 ล้านวอนในการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมทุนของเกาหลีทั้งสองประเทศ ที่เปิดดำเนินการในปี 2547
ดร.บอง ยัง ชิก จากสถาบันเพื่อการศึกษานโยบายอาซาน กล่าวว่า โอกาสที่นิคมอุตสาหกรรมแกซองจะเปิดดำเนินการอีกครั้งค่อนข้างริบหรี่ และเกาหลีเหนืออาจปรับเปลี่ยนสถานที่ไปเป็นฐานทัพอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้
ศาสตราจารย์พัค อิน ฮวี อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยสตรีอีวา ให้ความเห็นว่า เขาสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่สั่งปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซอง และคาดการณ์ว่าจะไม่มีการเปิดทำงานภายในปีนี้ เขามองว่าเกาหลีใต้ได้ตอบโต้โดยสันติวิธีกับเกาหลีเหนือ ถึงแม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นกับหลายบริษัทของเกาหลีใต้ก็ตาม โดยอาจารย์พัคกล่าวว่า
“ไม่ใช่ว่าเราจะไม่คิดถึงความเสียหายของบริษัทเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า พวกเขาเคยทำเงินได้มากมายจากการดำเนินกิจการในนิคมแกซองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้”
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้สร้างแรงจูงใจและเงินอุดหนุนให้กับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อให้ไปตั้งโรงงานผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของภาคเอกชนที่ดำเนินกิจการโดยบริษัทฮุนได อาซาน ที่เป็นกิจการในเครือของฮุนไดกรุ๊ป และบริษัทเกาหลีแลนด์คอร์ป โดยบริษัทในนิคมแกซองมีการจ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือประมาณ 54,000 คน ซึ่งจะได้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 73.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,585 บาทต่อเดือน โดยทำหน้าที่ตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ ประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ภายในบ้าน
นายจอง จี ซบ ให้ข้อมูลว่า มากกว่า 80% ของธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมแกซองล้วนมีผลกำไรที่ดี แต่การจะเปิดนิคมแกซองอีกครั้ง เราคาดหวังผลทางการเงินน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในเกาหลีเหนือ โดยเขากล่าวว่า
“นิคมแกซองสร้างผลกระทบด้านบวกกับชาวเกาหลีเหนือคือการให้โอกาสพวกเขาได้ใช้ชีวิตนอกประเทศ ทำให้พวกเขาเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการทำงานหนักและทำให้เกิดความแตกต่างครั้งใหญ่”
ในสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีใต้ประกาศว่า จะจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 550,000 ล้านวอนให้กับบริษัทในนิคมแกซอง แต่นายจอง กล่าวว่า เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอเพราะความเสียหายรวมทั้งสินทรัพย์มีมูลค่าถึง 560,000 ล้านวอน
เกาหลีเหนือเนรเทศแรงงานเกาหลีใต้ 800 คนออกนอกพื้นที่และปิดตายทรัพย์สินในนิคมทั้งหมด ทิ้งความทรงจำที่ว่านิคมแกซองเคยมีผลผลิตสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 500 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 17,500 ล้านบาทไว้เบื้องหลัง
หมายเหตุ 100 วอน = 3.27 บาท เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2559