ส่งออกญี่ปุ่นดิ่งสุดในรอบ 6 ปี
ยอดส่งออกญี่ปุ่นเดือนม.ค.ทรุดลงแรงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 เนื่องจากอุปสงค์จากจีนและตลาดสำคัญอื่นๆลดลง ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเสี่ยงหลังจากหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558
รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นดิ่งลงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว สูงกว่าตัวเลข 11.3% ที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้สาเหตุมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจ 4 เดือนติดต่อกัน จากการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน
ทั้งนี้ เป็นตัวเลขส่งออกที่ทรุดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2552 ที่วิกฤติการเงินโลกถล่มอุปสงค์ทั่วโลก จากข้อมูลล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นมีเพียงไม่กี่ทางเลือกที่จะเลือกใช้เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ซบเซา ถึงแม้ในเดือนที่แล้ว
ธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษกิจแบบช็อคตลาดทั่วโลก คือ ลดดอกเบี้ยเป็นอัตราติดลบไปแล้วก็ตาม เหล็กและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดตัวเลขส่งออก นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังต้องเลื่อนการส่งของจีน เนื่องจากติดวันหยุดช่วงปีใหม่ของจีนในปีนี้ที่เร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว
ทั้งนี้เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจึงฉุดเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศให้ทรุดฮวบลงทำให้ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าบริโภคของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในเดือนม.ค. ตัวเลขการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นไปที่จีนดิ่งลงถึง 17.5% จากปี 2557 โดยลดลง 6 เดือนติดต่อกันจากยอดส่งออกจอภาพแอลซีดีและสารประกอบอินทรีย์
ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หดตัวลง 1.4% ในไตรมาสเดือน ต.ค.- ธ.ค.บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ภาวะการขยายตัวตามปรกติได้ในไตรมาสนี้ แต่การส่งออกที่ย่ำแย่และการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่อาจขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าที่เข้าทางได้
ยอดส่งออกสินค้าไปยังประเทศในเอเชีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของยอดส่งออกญี่ปุ่นทั้งหมดก็ดิ่งลง 17.8% ในเดือนม.ค.นี้ด้วย นับเป็นการหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แล้ว
นอกจากนี้ ยอดส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาในเดือนม.ค.ก็ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นเหล็กและชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่ยอดส่งออกไปยุโรปก็ลดลง 3.6%
ยอดการนำเข้าลดลง 18% ลดลงกว่าตัวเลขที่เคยคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 16% ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 5,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 198,100 ล้านบาท.