“ยูนิลีเวอร์”เตือนเศรษฐกิจปีนี้ห่วย
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. บริษัทยูนิลีเวอร์ออกมาเตือนว่าภาวะตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภคจะย่ำแย่ และไม่แน่นอนมากขึ้นอีกในปีนี้ พร้อมกันนี้ก็รายงานถึงผลกำไรจากยอดขายตลอดทั้งปี 2558 ที่ดีเกินคาดคือ 4%
บริษัทสัญชาติอังกฤษ-ดัทช์ ผู้ผลิตซุปก้อนคนอร์ สบู่โดฟ และชาลิปตันได้รายงานว่า ผลกำไรปี 2558 จากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้นเป็น 79,000 ล้านยูโร หรือ 3,002,000 ล้านบาท (38 บาทต่อ 1 ยูโร) ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้
นายพอล โพลแมน ซีอีโอของยูนิลีเวอร์ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ แต่เน้นว่ายังมีความเสี่ยงจากค่าเงินในตลาดเกิดใหม่
นายโพลแมน กล่าวว่า “สำหรับตลาดเกิดใหม่ เรารู้สึกกังวลกับค่าเงินที่แกว่งไปมามาก และคาดว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเม็ดเงินลงทุนที่ยังไหลออกอย่างต่อเนื่อง ราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำ และการขาดการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายประเทศ”
นอกจากนี้ ซีอีโอของยูนิลีเวอร์ ยังให้ความเห็นว่า หากธนาคารกลางของสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจได้
เขายังกล่าวต่อว่า “เราต้องมีความกล้ามากขึ้นอีกนิด ที่จะลงทุนในที่ๆ เราอยากลงทุน ถึงแม้อุปสงค์จะลดลง เราก็ต้องกระตุ้นอุปสงค์ และมองหาตลาดเกิดใหม่ที่ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก”
ทั้งนี้ยูนิลีเวอร์รายงานว่ายอดขายของบริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นจาก 5.7% ในปี 2557 เป็น 7.1% ในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่อุปสงค์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ขณะที่การเติบโตของตลาดในประเทศพัฒนาแล้วมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“ผมไม่คิดว่าตลาดในยุโรปจะดีขึ้นจนน่าแปลกใจนะ ผมว่าหลายประเทศยังคงต้องเหนื่อยกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่”
นายโพลแมน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตัวเลขจีดีพี 6.9% ของจีนยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เน้นว่ายังต้องรอดูสถานการณ์ต่อไปในปีนี้ ปัจจุบัน บริษัทยูนิลีเวอร์ กำลังอยู่ระหว่างการตัดลดค่าใช้จ่าย และโครงสร้างงบประมาณของบริษัท เพื่อคงอัตรากำไรไว้ แม้จะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก
ซีอีโอของบริษัท กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น และธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น บอสใหญ่ของยูนิลีเวอร์ยังเน้นว่า ความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจเป็นตัวฉุดยอดขายอย่างสำคัญ
“อ็อกซแฟมเพิ่งตีพิมพ์รายงานออกมาว่า คนรวย 1% ในโลกนี้ มีรายได้เท่ากับคนอีก 99% ที่เหลือ นี่ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับบริษัทเรา ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในมือคนรวยเท่านั้น เพราะจะไม่มีใครกินมากขึ้น หรือมีเงินซื้อรถเพิ่มขึ้นอีก”