จีนเร่งช่วยหลายชาติยุโรปสู้ไวรัส
จีนกำลังมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับหลายชาติในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาอย่างรุนแรง สวนทางกับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงท่ามกลางวิกฤต
ผู้เชี่ยวชาญจากทางการและสาธารณสุขจาก 10 ประเทศในยุโรปได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมทางไกลในวันที่ 19 มี.ค.ซึ่งจีนจะแชร์ประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาด จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 18 มี.ค.
โดยการประชุมนี้มีขึ้นหลังจากจีนมีการปรึกษาหารือกับชาติยุโรปในการบริจาค หรือขายอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก ทั้งหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน เครื่องช่วยหายใจ และชุดทดสอบไวรัส โดยอิตาลี ซึ่งเป็นชาติที่มีการระบาดของไวรัสรุนแรงที่สุดในยุโรป บ่นว่าขาดการสนับสนุนจากชาติสมาชิกในอียู
“ เราจะให้การสนับสนุน และช่วยเหลือด้วยกำลังของเราเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในยุโรป” เกิงชวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 มี.ค. โดยไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นครั้งนี้
ผู้นำของอิตาลีและสเปน ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากไวรัส ได้มีการพูดคุยกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนด้วยความหวังด้านความช่วยเหลือทางการแพทย์
โดยจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์พื้นฐานทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดในโลก ได้เร่งกำลังการผลิตถึง 5 เท่า และทางการระบุว่า การระบาดในประเทศสามารถควบคุมได้แล้ว
ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปนเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ประธานาธิบดีสีได้บอกกับผู้นำสเปนว่า “ จีนยินดีที่จะขานรับกับความต้องการเร่งด่วนของสเปน และจะทุ่มเทความพยายามเพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ และแชร์ประสบการณ์ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรค” สื่อจีนรายงาน
โดยก่อนหน้านี้ ผู้นำจีนได้พูดคุยกับ นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต แห่งอิตาลีและให้คำมั่นเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 30 ตัน และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ 9 คนไปที่อิตาลี และยังได้สัญญาจะจัดส่งหน้ากาก 5 ล้านชิ้น เครื่องช่วยหายใจ 10,000 เครื่อง และทีมแพทย์เสริมอีก 2 ทีมไปให้อีก
มอริซิโอ มัสซารี ทูตอิตาลีประจำอียูร้องเรียนว่า ชาติสมาชิกอียูไม่ได้ขานรับกับข้อเรียกร้องจากรัฐบาลอียูให้ส่งอุปกรณ์และความช่วยเหลือไปให้อิตาลี และ ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิก ของเซอร์เบียก็ได้ร้องเรียนเช่นกันว่า ขาดการสนับสนุนจากอียู และระบุว่ามีแต่จีนที่ช่วยเหลือประเทศของเขา
การออกโรงตำหนิจากประเทศอย่างอิตาลีเกี่ยวกับความล้มเหลวของอียูในการเสนอความช่วยเหลือครั้งสำคัญ มีเหตุผลเพียงพอสำหรับจีนที่จะก้าวเข้ามาเสนอความช่วยเหลือ จากความเห็นของกุ้ยหงเจียน ผอ.ด้านยุโรปศึกษาที่สถาบันการศึกษานานาชาติของจีน
โดยเขาชี้ว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของจีน ไม่ควรผสมปนเปกับการเมือง หรือนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับท่าทีการปฏิบัติตัวของจีน
“หากจำเป็น จีนควรทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ทำงานผ่านกรอบการทำงานขององค์การอนามัยโลก และอียู เพื่อให้ความช่วยเหลือ” เขากล่าว
“หากรัฐบาลจีนจัดการอย่างเหมาะสม เราหวังว่าจะเห็นพัฒนาการในชื่อเสียงของจีนในบรรดาพลเมืองชาวยุโรปทั่วไป และพื้นฐานที่ดีขึ้นสำหรับความร่วมมือระหว่างจีนกับยุโรปในอนาคต”.