เศรษฐกิจจีนซบเซากระทบสิงคโปร์มากสุด
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ANZ) เตือนว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในจีนจะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังไม่เชื่อว่าสถานการณ์จะเลวร้ายไปถึงขั้นนั้น แต่เห็นด้วยว่าเศรษฐกิจในประเทศ และการค้าที่แข็งแกร่ง โครงข่ายการลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างจีน และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในจีนแผ่นดินใหญ่จะส่งผลกระทบโดยตรง และกระจายเป็นวงกว้างกับธุรกิจ และงานในสิงคโปร์
นายเออร์วิน เซียห์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร DBS ให้ความเห็นว่า “เศรษฐกิจของสิงคโปร์มีการเปลี่ยนโครงสร้างไปมาก โดยต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 10-20 ปีมานี้ ไม่น่าแปลกใจเลยถ้าสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด”
นายเซียห์ กล่าวว่า สิงคโปร์ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเผชิญปัญหาอุปสงค์จากจีนที่ลดลงได้
นายโจเซฟ อินคัลคาเทอร์รา นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร HSBC กล่าวว่า “ภาคบริการ (ในสิงคโปร์) เอง ก็มีการผนึกกำลังกับจีนอย่างแนบแน่น แตกต่างกับในบางประเทศ ที่ภาคบริการไม่ส่งผลอะไรนัก”
ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากธนาคาร ANZ ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ลดลงไป 1% จะฉุดให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ร่วงลงไปประมาณ 1.4% แต่นักวิเคราะห์จากธนาคาร DBS และ HSBC ยังคงมองในแง่บวก โดยนายอินคัลคัทเทอร์ราให้ความเห็นว่า ภาคการผลิตของสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วก็จริง แต่ภาคการบริการในประเทศยังคงไปได้ดีอยู่ นอกจากนี้การส่งออกบริการไปจีน ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
นางเซเลนา หลิง นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร OCBC เห็นด้วยว่าสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ต่างจากเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเหนือ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน เธอให้ข้อมูลอ้างอิงว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลก ตัวเลขการเติบโตของสิงคโปร์ดิ่งฮวบลงไปถึง 8.8% ในไตรมาสแรกของปี 2552 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงไป 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นางเซเลนา หลิงชี้ว่า มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะไม่เข้าไปแทรกแซงการลดผลกระทบด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และการคลัง
นายเหลียง ไหว โฮ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารบาร์คลีส์ ให้ความเห็นว่า นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว การนำเข้าของจีนก็ลดลงด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลง สถานการณ์นี้อาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดกับประเทศคู่ค้า และซัพพลายเออร์ของจีนในเอเชีย โดยผลกระทบรุนแรงนี้ทำให้โรงงานผู้ผลิตในสิงคโปร์ และกระบวนการผลิตของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
นายโฮ จีฮอน ซีอีโอของเอพีออยล์ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจซบเซาในจีนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น ผู้ค้าในอุตสาหกรรมน้ำมันจีนมองหาทางเลือกที่มีราคาถูกมากขึ้น ทำให้เอพีออยล์มีโอกาสมากขึ้นในการขายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในตลาดจีน นายโฮกล่าวว่า
“ในเศรษฐกิจระดับจุลภาค นี่เป็นโอกาสของเราที่จะได้มีส่วนแบ่งในตลาดในฐานะผู้ผลิตหน้าใหม่”
อย่างไรก็ตามเขายังมีความกังวลเกี่ยวกับเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ในขณะที่เอพีออยล์ดูเหมือนจะขายผลิตภัณฑ์ให้จีนได้มากขึ้น แต่บริษัทเองก็กำลังลงทุนอยู่ในจีนด้วย
” ในเศรษฐกิจระดับมหภาค การลดค่าเงินหยวนเป็นเรื่องใหญ่มาก ในแง่ของการลงทุนของบริษัทเรา (ในจีน) เงินหยวนที่ถูกลงทำให้การลงทุนของเราที่ใช้เงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ผลกำไรที่กลับคืนมาก็ได้รับผลกระทบไปด้วย”
เขาสรุปว่า “เป็นโชคร้ายซ้ำซ้อนสำหรับบริษัทของสิงคโปร์ และตอนนี้ เรากำลังย่ำแย่อยู่ที่จีน”