“สี จิ้นผิง”หวังจีนปลอดทุจริตปีนี้
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตั้งเป้าเดินหน้าปราบทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยหวังให้ปีนี้ จีนจะกลายเป็นประเทศที่ “ไม่มีใครกล้าโกง”
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ความพยายามในการดำเนินการต่อต้านการรับสินบน และทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในปี 2559 นี้ โดยมีการตามล่าอย่างจริงจังกับบรรดา “ผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ” ที่เดินทางหลบหนีคดีไปต่างประเทศ โดยอ้างอิงจากคำแถลงของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนในพิธีเปิดการประชุม ของคณะกรรมการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัย โดยจะใช้เวลาในการประชุมทั้งหมด 3 วัน หลังจากประสบความสำเร็จในการจับกุม “เสือ” หรือผู้กระทำการทุจริตคนสำคัญใน 100 รายชื่อแรก และเจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางนับพันคน โดยการดำเนินการในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การปราบปรามทุจริตในระดับท้องถิ่น
สำนักข่าวซินหัวได้เผยแพร่คำพูดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่า “บรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนกลางมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป้าหมายในการป้องกันการทุจริตไม่ให้แพร่กระจายก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน” โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมในทุกภาคส่วน และตั้งเป้าว่าจะไม่มีใครในประเทศจีนกล้าทุจริตอีกต่อไป
หลังจากนายสี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2555 เขาก็ได้เตือนว่า การฉ้อโกงทุจริตจะเป็นตัวบ่อนทำลายการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และเขาได้ให้คำมั่นว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ในการกำจัดการทุจริตออกไปจากสังคมทุกระดับของจีน โดยมาตรการนี้พุ่งเป้าโดยตรงไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรรัฐวิสาหกิจ และผู้นำในกองทัพ โดยมีการอายัดทรัพย์สินตั้งแต่สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยในฮ่องกง รายได้จากการเล่นพนันในมาเก๊าเนื่องจากเศรษฐีจีนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้โอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกนอกประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับกุม และยึดทรัพย์
หนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “เสือ” ก็คือนายโจว หย่งคัง อดีตบิ๊กด้านความมั่นคงที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปเมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว นายหลิง จีหัว ผู้เคยให้ความช่วยเหลือครอบครัวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนอีก 2 คนคือนายซู ไคหู และนายกัว ป๋อสง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา มี “เสือ” หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือระดับสูงกว่านั้น ถูกจับกุมในข้อหากระทำการทุจริตคอรัปชั่นมากถึง 26 คน
องค์กร CCDI ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ได้รายงานว่า มีมาตรการอยู่ 3 ขั้นตอนในการต่อสู้กับการรับสินบนนี้ โดยขั้นแรกต้องทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะฉ้อโกง มีการผลักดัน และทำให้กรอบของกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาดจริงจัง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีช่องทางในการทุจริต และสุดท้ายคือการปลูกฝังจริยธรรม และศีลธรรมในจิตสำนึก เพื่อไม่ให้พวกเขามีความอยากที่จะคดโกงทุจริต
สำนักข่าวซินหัว รายงานเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการตามล่าผู้ต้องสงสัยในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น มีการสร้างสรรค์โปรแกรมช่วยเหลือชื่อ “สกายเน็ต” ที่เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว โดยช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตามล่า และจับกุมผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,000 คนที่หลบหนีไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ถึง 68 ประเทศ
กลับมารับโทษในจีน
จากข้อมูลของหน่วย CCDI โปรแกรมสกายเน็ตใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีนี้ ได้ปรับปรุงเพิ่มความร่วมมือเกี่ยวกับกฎหมายกับประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้น
นายฟู กุย เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโปรแกรมสกายเน็ต ได้ให้ข้อมูลว่า มาตรการทั้ง 3 ขั้นตอนจะดำเนินการไปพร้อมกัน แต่จะมุ่งเน้นไปที่ขั้นตอนแรก คือการทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกเกรงกลัวมากจนไม่กล้าที่จะคิดทุจริตฉ้อโกงอีกต่อไป
นายฟู กุยกล่าวว่า “เราต้องทำให้ข้าราชการไม่กล้า ไม่สามารถ และไม่อยากที่จะโกง และปัจจุบันนี้ เรายังอยู่ในขั้นตอนแรก คือขู่ขวัญทุกคนให้รู้สึกกลัวให้มากที่สุด”